กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2563

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2563

โดย panwilai_c

16 พ.ย. 2564

55 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2563


วันนี้ เวลา 09.02 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาคารเรียนรวม สถาบันวิทยสิริเมธี อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2563 ประกอบด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 4 คน , ปริญญาเอก จำนวน 13 คน พร้อมพระราชทานประกาศนียบัตร แก่ผู้แทนนักเรียน โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 4 และพระราชทานทุน "ศรีเมธี" แก่นิสิตสถาบันวิทยสิริเมธี ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 6 คน


สถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยกลุ่มบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ โดยสถาบันสิริเมธี เปิดสอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอกใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล , สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน , สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมชีวโมเลกุล , และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ


สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ มีนักเรียนจบการศึกษาไปแล้ว 4 รุ่น รวม 280 คน โดยศึกษาต่อทางด้านสะเต็มศึกษา ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับทุนไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 100 อันดับแรกของโลก จำนวน 83 คน - โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท แก่ผู้สำเร็จการศึกษา


ความว่า "ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคนในที่นี้ ต่างทราบแก่ใจดีว่า วิชาความรู้นั้นเป็นของมีค่า การจะได้มามิใช่เรื่องง่าย แต่จะต้องอาศัยความบากบั่นพยายาม ความทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังสมอง และเวลา ในการเล่าเรียนอย่างมากจึงจะได้มา นอกจากความรู้ที่ได้จากผู้สอน ยังต้องพากเพียรค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง จึงจะได้ความรู้กว้างขวางและลุ่มลึก เรียกได้ว่ารู้จริง


ประการหนึ่ง การที่ทุกคนสำเร็จการศึกษานั้น มิได้หมายความว่า เป็นที่สิ้นสุดของการหาวิชาความรู้ ด้วยเหตุที่โลกเรานี้ไม่หยุดนิ่ง จึงมีความรู้ใหม่เกิดขึ้น ให้ศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต หากมุ่งหวังความก้าวหน้า ก็ต้องหมั่นหาความรู้ให้เพิ่มพูน ทันโลกทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ในการประกอบอาชีพการงาน ทุกคนย่อมปรารถนาความเจริญก้าวหน้าเป็นธรรมดา ในความเป็นจริงแล้ว มิใช่เรื่องเกินความสามารถ หากปรารถนาผลดี ก็ควรจะต้องทำเหตุให้ดี ได้แก่การใช้ความรู้ ที่คณาจารย์ประสิทธิ์ประสาทให้ ไปในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเอง องค์กร สังคม ไปจนถึงชาติบ้านเมือง ไม่ใช้ความรู้ไปในทางให้เกิดโทษ อีกทั้งประพฤติและปฏิบัติตนเช่นกัลยาณชน สมเป็นผู้มีการศึกษา"


เวลา 10.01 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเมธีสโมสร (Faculty Center) ซึ่งตั้งอยู่ภายในวังจันทร์วัลเลย์ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลงานด้านวิชาการและงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สอดคล้องกับกลุ่มเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม อาทิ งานวิจัย "วัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่" เป็นการคิดค้น และพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ ให้มีสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ ที่สามารถเปล่งแสง ดูดกลืนแสงได้ดี เพื่อนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำชิลิคอน ในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เช่น สีสำหรับใช้ในเครื่องปริ้นเตอร์ , แผ่นหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ (OLED)


งานวิจัยวิวัฒนาการระดับโมเลกุลของโครงสร้างโปรตีน ผลงานของศาสตราจารย์โรเบิร์ต โรบินสัน เพื่อทำให้เราทราบว่ามนุษย์ มีความแตกต่างจากสัตว์โลกอื่นอย่างไร และงานวิจัยการผลิตชุดตรวจโควิด-19 ที่มีความแม่นยำสูง โดยใช้เครื่องมือแบบง่าย ไม่ซับซ้อน ชื่อ "ดูอัล จีน คริสเปอร์ ซาร์ส ซี โอ วี ทู อาร์ เอ็น เอ ดีเทคชั่น คิท" (Dual gene crispr sars cov2 RNA Detection Kit) รวมทั้งเทคนิคการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ


เช่น หากพบเชื้อสีเหลือง แสดงว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้า , งานวิจัยหุ่นยนต์อเนกประสงค์ ใช้สำหรับสำรวจท่อก๊าซ มีตั้งแต่ 2 ขาขึ้นไป สามารถเคลื่อนที่ได้ในพื้นที่ขรุขระ และ AVIS หุ่นยนต์เคลื่อนที่ สำหรับปีนท่อก๊าซที่ระดับความสูงตั้งแต่ 0 ถึง 90 องศา , โครงงาน SENSE AI ใช้วัดคุณภาพการนอน และความเครียดของมนุษย์ และโครงการ CHIVID สนับสนุนการทำงานของแพทย์ ในการตรวจรักษาโรคโควิด-19 ด้วยการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย ผ่านทางแอพพลิเคชั่น , งานวิจัย "การพัฒนาวัสดุกราฟิน สู่นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า" ที่จะพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และงานวิจัยการสังเคราะห์ และการแยกสารสเตอริโอ ของยาด้วยวัสดุอัจฉริยะ


ซึ่งคณะผู้วิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาวัสดุอัจฉริยะ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตโมเลกุลของยาให้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถลดการเกิดผลข้างเคียง ที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ในอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์


สำหรับอาคารเมธีสโมสร (Faculty Center) เป็นอาคาร 3 ชั้น ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม ปตท. เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของคณาจารย์ รวมถึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการพบปะ และจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิด หรืองานวิจัยในรูปแบบผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานวิจัยต่าง ๆ