กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใน จ.แม่ฮ่องสอน

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใน จ.แม่ฮ่องสอน

โดย panwilai_c

8 พ.ย. 2564

91 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน


วันนี้ เวลา 10.21 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านดอยแสง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ในปีการศึกษา 2563 มีโรงเรียนเข้ารับการประเมินผลความสามารถทางการฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทย 32 โรงเรียน ซึ่งนักเรียนกว่าร้อยละ 90 ผ่านเกณฑ์


พร้อมกันนี้ทรงติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิต ของศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านดอยแสง ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 91 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงแดงหรือกะแย ทำให้ประสบปัญหาการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล จึงได้จัดครูผู้ช่วยสอน ซึ่งเป็นคนในชุมชนช่วยประสานการใช้ภาษาไทย กับผู้ปกครองและคนในชุมชน เพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดีขึ้น


ด้านการเรียนการสอน ได้รับความร่วมมือ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดำเนินโครงการและกิจกรรม พัฒนาครู นักเรียน และชุมชนโดยรอบ ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น รวมทั้งมีผลคะแนนเฉลี่ยNT วิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์สูงกว่าระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีผลคะแนนเฉลี่ยโอเน็ต วิชาภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์สูงกว่าระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดเขียนรายงานการประชุมสหกรณ์ระดับจังหวัด ในปีการศึกษา 2563 รางวัลชนะเลิศการประกวดทำหนังสือเล่มเล็ก หัวข้อสหกรณ์ของเรา ระดับจังหวัด ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง การแข่งขันแนวปฏิบัติที่ดี 6 ด้าน ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทการแสดงพื้นบ้านกะแย ในปีการศึกษา 2564


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมโครงการสร้างรายได้ ตามพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งกรมป่าไม้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งเสริมแนวทางการฟื้นฟูป่าไม้ โดยให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ มีการส่งเสริมให้ปลูกไม้ 4 ชั้นเรือนยอด อาทิ สัก , ประดู่ , มะขามป้อม , อะโวคาโด , โกโก้ และกาแฟ โดยนำผลิตผลมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ อาทิ น้ำผึ้ง และผ้าทอสีย้อมธรรมชาติ ส่งผลให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้มากกว่า 31,000 ไร่ สร้างรายได้ให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี


เวลา 14.24 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยโปงเลา อำเภอขุนยวม เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศูนย์การเรียนแห่งนี้ ครั้งที่ 2 ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. ร่วมกันจัดหาน้ำ โดยปรับปรุงฝายห้วยโปงเลา พร้อมระบบส่งน้ำ และก่อสร้างบ่อเก็บน้ำเพิ่มเติม 2 แห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่า และหน่วยพิทักษ์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา และศูนย์การเรียนฯ รวมทั้งราษฎร มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปี


ด้านผลการเรียน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ย NT ในวิชาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย สูงกว่าระดับประเทศ เนื่องจาก ครูได้สอนเสริมหลังเวลาเลิกเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญกับนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อน มีนักเรียนบ้านไกลพักอยู่ที่ศูนย์ฯ จำนวน 12 คน และมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 3 คน ทั้งยังนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาสอนให้นักเรียนย้อมผ้า จากใบสมอเทศ หัวขมิ้น เปลือกเพกา และผลมะขามป้อม ขณะที่นักเรียน มีความสามารถในการทอผ้าพันคอ ลายตะกร้อ ลายดอกไม้ และลายเม็ดข้าวโพด


ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยโปงเลา ยังมีบทบาทในการดูแลชาวบ้านในชุมชน มีครูเป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้ากะเหรี่ยง และแปรรูปบ้านห้วยโปงเลา ซึ่งผ้าพันคอได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 4 ดาว ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานพัฒนาชุมชน ช่วยดำเนินการขายในระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 40 คน มีรายได้เสริมคนละ 6,000 บาทต่อปี ส่วนของการเรียนระดับชั้นอนุบาล ครูสอนให้นักเรียน เรียนรู้เกี่ยวกับวัฏจักรของต้นข้าว และศิลปะการประดิษฐ์ต้นข้าว


ทั้งนี้ หมู่บ้านห้วยโปงเลาไม่พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบ้านได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเข็มแรก และเข็ม 2 ร้อยละ 77 ด้านกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน มีการเชื่อมสู่ผู้ปกครองและชุมชน โดยร่วมกันทำน้ำหมักชีวภาพ นำเมล็ดผักสวนครัวไปปลูกที่บ้าน ปลูกฝรั่งกิมจู ไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายที่สหกรณ์


สำหรับกิจกรรมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน มีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำด้านโภชนาการให้ผู้ปกครองนักเรียน และมีสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด สอนให้ชาวบ้านแปรรูปกล้วยตาก และกล้วยฉาบ ซึ่งมีผลผลิตมากในหมู่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนวัตถุดิบ ในการแปรรูปอาหารที่โรงเรียนไม่มี


ส่วนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีผลผลิตเพียงพอสำหรับประกอบอาหารแก่นักเรียน และทางศูนย์ฯ ยังจัดทำฐานการเรียนรู้ด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ครบทุกฐาน และนำผลผลิตแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เช่น ผักกาดขาว มอบพันธุ์ไก่ให้เลี้ยงที่บ้าน ปัญหาของศูนย์การเรียนแห่งนี้ คือไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากแบตเตอรี่เสีย ต้องใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ทำงานด้านเอกสารของโรงเรียน