“ทิพานัน” วอน “เพื่อไทย” เลิกหากินกับชาวนา ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญชาวนา

เลือกตั้งและการเมือง

“ทิพานัน” วอน “เพื่อไทย” เลิกหากินกับชาวนา ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญชาวนา

โดย attayuth_b

6 พ.ย. 2564

429 views

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวหารัฐบาล ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาทุกข์ยากมาตลอด 7 ปี วันนี้บ่นคิดถึงจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วว่า ตนรู้สึกเห็นใจชาวนาที่ตกเป็นเครื่องมือให้กับพรรคเพื่อไทยนำไปหากินทางการเมืองบ่อยครั้ง แก้เกี้ยวหลังจากก่อนหน้านี้ได้ออกเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์ผลักดันแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ที่เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน หวังโหนกระแสม็อบราษฎร โดยไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา แต่เมื่อกระแสตีกลับก็ต้องออกมาแก้ต่างกันพัลวันกลับไปกลับมาเหมือนเล่นละคร ให้โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาหาเรื่องบิดเบือนโจมตีรัฐบาลเพื่อหวังเบี่ยงเบนประเด็น สะท้อนอย่างชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความจริงใจกับพี่น้องชาวนา


“ประชาชนที่ทราบข่าวโฆษกพรรคเพื่อไทย ต่าง "สะดุ้งเฮือก" ไม่ใช่คิดถึงอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ แต่เพราะ "ไม่มีวันลืม" ว่านายกฯยิ่งลักษณ์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โครงการรับจำนำข้าวเสียหาย5แสนล้านบาทเป็นภาระงบประมาณและต้องใช้หนี้ไปอีก 12 ปี และเป็นต้นตอทำลายตลาดส่งออกข้าวไทยจากที่เคยเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับที่ไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทย เคยออกนโยบายหาเสียงกับชาวนา แต่ประโยชน์ไปตกกับพ่อค้ารายใหญ่และนักการเมืองบางกลุ่ม”น.ส.ทิพานัน กล่าว


อย่างไรก็ตาม อยากแจ้งไปยังพี่น้องชาวนา รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวนาเช่นเดียวกับประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. มีนโยบายข้าวชัดเจน โดยล่าสุดได้ผลักดันโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563 /65 โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ควบคู่ไปกับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 ควบคู่ไปกับนโนยบายเรื่องตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว CAP อย่างครบวงจร


และล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 วงเงินรวม 13,225 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน โดยธ.ก.ส. เริ่มจ่ายรอบแรกวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 492,571 ครัวเรือน เป็นเงิน 10,920 ล้านบาท สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.กส. ทุกสาขา


"ปัจจุบันรัฐบาลไทยไม่นิ่งนอนใจเร่งหาตลาดใหม่ผลักดันการส่งออกตลาดข้าวในต่างประเทศ ทั้งจีน และตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศ กำลังไปได้ด้วยดี เพื่อยกระดับราคาข้าวให้กับชาวนา และเงินกู้ของรัฐบาลถูกสรรหาไปในการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในวิกฤติต่างๆทุกกลุ่มอย่างตรงจุดถึงมือ" น.ส. ทิพานัน กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News