ราคาน้ำมันโลกพุ่ง หลังโอเปกพลัส เพิ่มเพดานการผลิต - กพช.เคาะกู้เพิ่มกองทุนน้ำมันฯ 4 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ

ราคาน้ำมันโลกพุ่ง หลังโอเปกพลัส เพิ่มเพดานการผลิต - กพช.เคาะกู้เพิ่มกองทุนน้ำมันฯ 4 หมื่นล้าน

โดย thichaphat_d

6 พ.ย. 2564

119 views

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าเมื่อวานนี้ (5 พ.ย.64) พุ่งขึ้นกว่า 2 ดอลลาร์ หลังกลุ่มโอเปกพลัส ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมัน (โอเปก) กับชาติผู้ผลิตน้ำมันสำคัญ ๆ นอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย เพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันเพียงวันละ 4 แสนบาร์เรลเช่นเดิม


ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.46 ดอลลาร์ ปิดที่ 81.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 2.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 82.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกพลัส ได้ประชุมกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมตกลงกันว่า จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันป้อนสู่ตลาดโลกในเดือนธันวาคมในปริมาณเท่าเดิมคือ เพิ่มวันละ 4 แสนบาร์เรล โดยไม่สนคำร้องขอของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯที่ขอให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตในช่วงนี้มากขึ้นอีก เพื่อชะลอราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น


นักวิเคราะห์ชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้โอเปกพลัสระมัดระวังมากขึ้นในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เนื่องจากกังวลว่า อุปสงค์น้ำมัน (Demand) อาจทรุดตัวลงอีก ท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในจีนและยุโรป


ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า


กพช.อนุมัติปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา


อีกทั้ง ยังเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2567 ปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท


นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563–2567 เพื่อรับรองกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2562


คาดว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน ธ.ค.2564 โดยงวดแรกจะกู้ 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับเงินในช่วงกลางเดือนม.ค.2565 และงวดถัดไปอีกกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 7,000 ล้านบาท จึงทำให้ต้องกู้เพิ่มราว 30,000 กว่าล้านบาท

คุณอาจสนใจ

Related News