กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสิงห์บุรี

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสิงห์บุรี

โดย kodchaporn_j

5 พ.ย. 2564

41 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสิงห์บุรี


วันนี้ เวลา 14.08 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม หรือ วัดไผ่ดำ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี


ซึ่งมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิสิรินธร และพุทธศาสนิกชนจัดขึ้น เพื่อนำจตุปัจจัยไปใช้ในการดำเนินกิจการของวัดฯ ที่สนับสนุนการศึกษา โดยเปิดสอนพระปริยัติธรรม แก่พระภิกษุ-สามเณร มีสามเณรนักเรียน สำเร็จการศึกษาแล้ว 28 รุ่น


วัดไผ่ดำ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีเจดีย์เก่าทรงระฆังคว่ำ ปรากฎเป็นหลักฐาน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้คณะสงฆ์ในปกครองธรรมยุตไปอยู่ประจำ และสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี 2480 ชื่อวัดไผ่ดำ ตั้งตามนามของหมู่บ้านไผ่ดำ ที่มีป่าไผ่ดำขึ้นอยู่จำนวนมาก


ต่อมาในปี 2538 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ประทานชื่อใหม่ว่า "วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม" ปัจจุบัน มีพระภิกษุ 9 รูป สามเณร 133 รูป มีพระครูประพัฒนศีลคุณ เป็นเจ้าอาวาส


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องสมุด “กฤษณเวฬุ” ทรงติดตามความก้าวหน้า การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดไผ่ดำ แผนกสามัญศึกษา ที่เน้นการศึกษาแผนกธรรม และแผนกบาลี เปิดสอนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรีถึงนักธรรมชั้นเอก และชั้นบาลีไวยากรณ์ ถึงเปรียญธรรม 5 ประโยค ตามหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์


เพื่อให้สามเณรมีความรู้ สามารถเผยแผ่หลักธรรมให้กับพุทธศาสนิกชนได้ถูกต้อง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปิดสอนแบบ on line และ on hand บางวิชาต้องเรียนแบบ on side เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ จะแบ่งชั้นเรียน ให้เรียนแบบเว้นระยะห่าง


นอกจากนี้ยังปรับการเรียนการสอน ให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตจริงและโลกปัจจุบัน ในรูปแบบ “ไผ่ดำโมเดล” เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ คิดแก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ นำทักษะหลายด้านมาผสมผสาน เกิดเป็นชิ้นงาน


ที่นำเสนอในวันนี้คือ “ตุ๊กตาเณรไผ่” นำความรู้พื้นฐานด้านการเย็บผ้า เย็บย่าม พัฒนาฝีมือ คิดออกแบบสร้างสรรค์เป็นตุ๊กตารูปสามเณรนุ่งห่มผ้าสบงจีวร ในอิริยาบทต่างๆ ช่วยฝึกสมาธิ และเป็นอาชีพได้ในอนาคต , “โคมไฟเณรไผ่” เกิดจากการต่อยอดความรู้ ด้านจักสานสู่การออกแบบเป็นโคมไฟรูปทรงต่างๆ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์


สำหรับงานห้องพยาบาล มูลนิธิสิรินธร ได้จัดหาเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน เพื่อดูแลสุขภาพอนามัยของสามเณรนักเรียน และดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ เช่น โครงการเณรน้อยเติบโตอย่างสมวัย , โครงการพิชิตอ้วน พิชิตพุง รวมถึงให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคโควิด-19


ซึ่งสามเณรนักเรียนทุกรูป และบุคลากรทุกคน ได้รับวัคซีนแล้ว ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ติดเชื้อ