ปส.รับ ‘ยาอี-ยาเค 3 in 1’ เป็นเรื่องใหม่ หมอเตือนอานุภาพรุนแรง เสพแล้วถึงตาย

อาชญากรรม

ปส.รับ ‘ยาอี-ยาเค 3 in 1’ เป็นเรื่องใหม่ หมอเตือนอานุภาพรุนแรง เสพแล้วถึงตาย

โดย nicharee_m

3 พ.ย. 2564

72 views

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีกาแฟผสมยาอีวางขายซองละ 3,000 บาท ล่าสุดผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สั่งตรวจสอบหาแหล่งที่มาของคลิป พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบหาข่าวแล้ว ยอมรับไม่เคยเจอ “เคกาแฟ”


จากกรณีมีผู้ใช้ติ๊กต๊อกคนหนึ่ง โพสต์คลิปขายกาแฟสำเร็จชนิดซอง พร้อมบรรยายว่า ภายในซองกาแฟเป็นยาอีผงบดผสมกับไฟว์ ไฟว์ หรืออิริมินไฟว์ (Erimin 5) และยาเสพติดชนิดอื่นนำมาผสมรวมกัน โดยโพสเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา


ในเรื่องนี้ นาย วิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยอมรับว่ามีจริง ส่วนการบรรจุด้วยซองกาแฟนั้น เป็นเพียงวิธีการปกปิดอำพรางทั่วไปของนักค้ายาเสพติด และเพื่อความสะดวกในแบ่งจำหน่าย สนนราคาประมาณซองละ 3,000 บาท


ขณะที่พลตำรวจโท ศรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้สั่งการให้กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 ซึ่งดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ไปสืบหาข้อมูลเคกาแฟแล้ว มีการจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยจริงหรือไม่ หรือเป็นรูปแบบการเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในต่างประเทศ และยอมรับว่า เคกาแฟถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยผ่านเข้ามาในสารบบการข่าวของ ปส.มาก่อน


ในอดีตรูปแบบของเคตามีนที่นำเข้ามาในประเทศไทย จะลักลอบใส่ในซองหรือถุงบรรจุภัณฑ์ครีมเทียม เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่เคยพบเคกาแฟในรูปแบบนี้มาก่อน


ส่วนนาย เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด เปิดเผยว่า มีสมาชิกได้แจ้งเบาะแสมาที่เพจ ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บอกว่ามียาเสพติดชนิดใหม่ คือ ยาอีทรีอินวัน มาในรูปแบบของกาแฟ ชงดื่มได้ทันที แต่อานุภาพจะรุนแรงกว่ายาอีหลายเท่า เพราะทำมาจากหัวเชื้อยาอี ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน โดยจำหน่ายซองละ 3 พันบาท


โดยผู้ที่ดื่มยาอีกาแฟตัวนี้ จะออกฤทธิ์ทำให้คึกคัก แต่หากเสพมากจะเกิดภาพหลอน เช่นมีคนจะมาทำร้าย จนทำให้นอนไม่ได้ จนถึงที่เรียกว่า ตื่นก็หลอน นอนก็ฝันร้าย


ด้าน นายแพทย์ มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เตือนว่า ยาอี เมื่อเสพยาเข้าไปแล้ว ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และยาจะเข้าไปทำลายระบบประสาท และเมื่อสารลดน้อยลง ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า อาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า มีแนวโน้มฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ


นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เผยว่าได้ประสานไปยัง ตำรวจ ปอท. และตำรวจ ปส. เพื่อตรวจสอบต้นทางของคนโพสต์แล้ว และเร่งบล็อกทุกช่องทาง

คุณอาจสนใจ