ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินวันที่ 2

พระราชสำนัก

ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินวันที่ 2

โดย panwilai_c

30 ต.ค. 2564

134 views

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินวันที่ 2 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


วันนี้ เวลา 16 นาฬิกา 50 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปยังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2564


โอกาสนี้ ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานศุภรัต ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส แล้วเสด็จขึ้นไปบนฐานชุกชี ทรงชักสายสูตรห่มผ้าทรงสะพักพระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา , ทรงห่มผ้าทรงสะพักพระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตรภูมิพล สหัสสทิวัสรัชการี ปัณณสวรรษศรีอุภัยมหามงคล พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา 50 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา , ทรงห่มผ้าทรงสะพักพระพุทธวิโลกนญาณบพิตร สิริกิติธรรมโสตถิมงคล พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา


จากนั้น ทรงพระสุหร่ายพระวิสูตรทองหน้าพระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์ และทรงจุดเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


ต่อจากนั้น ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธานที่วางอยู่บนผ้าไตร พระราชทานเจ้าพนักงานภูษา มาลา แล้วทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกร ทรงว่า "นะโม ตัสสะฯ" จบ 3 หน แล้ว ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้า ทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์ รูปที่ 2


โอกาสนี้ ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เจริญ สุวฑฺฒโน พระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงทอดผ้าไตร 5 ไตร พระสงฆ์ 5 รูปสดับปกรณ์ แล้วทรงถวายเครื่องบริวารพระกฐิน แด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ แล้วทรงลาพระสงฆ์


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังตำหนักเพ็ชร ทรงเปิดนิทรรศการ "พระมหาสมณานุสรณ์" ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และองค์การยูเนสโก ได้ประกาศร่วมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว


โดยวัดบวรนิเวศวิหาร และคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเผยแพร่พระประวัติและคุณูปการให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับปี 2564 เป็นปีแห่งการครบหนึ่งศตวรรษการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ที่ทรงเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาประชาบาลให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ตลอดจนการออกกฎหมายบังคับให้เด็กไทยทุกคนเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียน ในปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ


นิทรรศการจัดขึ้น 3 หัวข้อใน 4 รูปแบบ คือ "พระมหาสมณาณุสรณ์: นิทรรศน์อุทาหรณ์" นำเสนอพระประวัติและผลงานของพระมหาสมณาเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, "พระมหาสมณาณุสรณ์:จดหมายเหตุ" ทรงเป็นปราชญ์ผู้ปราดเปรื่องทั้งด้านการศาสนา การศึกษา วัฒนธรรม การปกครอง และการต่างประเทศ ซึ่งจัดแสดงต้นฉบับของพระนิพนธ์ต่าง ๆ จดหมายโต้ตอบระหว่างพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น กับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ตลอดจนผู้นำศาสนา และนักวิชาการ, "พระมหาสมณาณุสรณ์: ตามรอยพระบาท" นำเสนอเรื่องราวสมัยที่ทรงผนวชและประทับ ปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร และ "พระมหาสมณาณุสรณ์: นิทรรศการออนไลน์" นิทรรศการเสมือนจริงที่สามารถเข้าชมได้ในระบบออนไลน์ นำเสนอข้อมูลของนิทรรศการ on Site ได้ครบถ้วนทั้งบรรยากาศ เพลง ภาพภายในภายนอก ภาพยนตร์สารคดี เสียงประกอบ และเส้นทางต่าง ๆ โดยจะเปิดให้เข้าชมได้ ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2564


จากนั้น เสด็จลงจากชานพระระเบียงตำหนักเพ็ชร สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และพระเถระ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ประกอบด้วย พระธรรมวิสุทธาจารย์, พระธรรมวชิรญาณ, พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ และพระเทพวชิรมุนี ถวายของที่ระลึก


เวลา 18 นาฬิกา 17 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2564 เป็นวัดที่ 2 ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่ และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หมายถึง "วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5"


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีเททอง ทรงเททองหล่อพระพุทธรูป จำนวน 6 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางถวายเนตร, พระพุทธรูปปางจงกรม, พระพุทธรูปปางสมาธิเรือนแก้ว, พระพุทธรูปปางห้ามมาร, พระพุทธรูปปางนาคปรก และพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งจะประดิษฐานบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในโครงการ "โพธิมณฑล พุทธานุสรณ์สัตตมหาสถาน"


ในโอกาสที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีอายุครบ 120 ปี ในปี 2562 จึงได้ดำเนินการสร้างสัตตมหาสถาน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริที่จะจำลองสัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง ถวายเป็นพุทธบูชา ไว้โดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงปลูก บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ


ด้วยทรงรำลึกถึงการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งการเสด็จเสวยวิมุติสุขบริเวณโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน ซึ่งพุทธสถานอันยิ่งใหญ่ทั้ง 7 แห่งนั้น เรียกว่า "สัตตมหาสถาน" โดยทรงศึกษาการออกแบบพระพุทธรูปปางเสวยวิมุติสุข 7 ปาง ในลักษณะมนุษยคติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนสัตตมหาสถาน และการกำหนดทิศของสัตตมหาสถานทั้ง 7 แห่ง ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ยังไม่ทันดำเนินการก็เสด็จสวรรคต


ทั้งนี้ ในปี 2563 ได้มีการเททองหล่อพระพุทธรูปปางสมาธิ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ เสวยวิมุติสุข เป็นสัญลักษณ์แทนสัปดาห์ที่ 1 เป็นองค์แรก สำหรับในวันนี้เป็นการเททองหล่อพระพุทธรูปอีก 6 องค์ คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร แทนสัปดาห์ที่ 2 อนิมิสเจดีย์ , พระพุทธรูปปางจงกรม แทนสัปดาห์ที่ 3 รัตนจงกรม, พระพุทธรูปปางสมาธิเรือนแก้ว แทนสัปดาห์ที่ 4 รัตนฆรเจดีย์ , พระพุทธรูปปางห้ามมาร ใต้ต้นไทร อชปาลนิโครธ แทนสัปดาห์ที่ 5, พระพุทธรูปปางสมาธิ นาคปรก ใต้ต้นมุจลินท์ หรือต้นจิก แทนสัปดาห์ที่ 6 และพระพุทธรูปปางสมาธิ ใต้ต้นราชายตนะ หรือต้นเกด แทนสัปดาห์ที่ 7 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และกำหนดเปิดได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565