6 เงื่อนไข เข้าไทยไม่ต้องกักตัว - ททท.ชี้ ท่องเที่ยวไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

เลือกตั้งและการเมือง

6 เงื่อนไข เข้าไทยไม่ต้องกักตัว - ททท.ชี้ ท่องเที่ยวไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

โดย passamon_a

23 ต.ค. 2564

76 views

วันที่ 22 ต.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการรับนักเดินทางแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ สำหรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจสูง ตามแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีเงื่อนไขหลัก ๆ ใน 6 ขั้นตอน ได้แก่


1. นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทย ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดทางอากาศ กรณีมาจากกลุ่มประเทศอื่น ให้พำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน


2. มีเอกสารหรือหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีน (Certificate of Vaccination) ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือกรณีเคยติดเชื้อ และได้รับวัคซีน 1 เข็มในช่วง 3 เดือนหลังติดเชื้อ (เป็นประเทศที่กระทรวงต่างประเทศตรวจสอบว่าใบรับรองการติดเชื้อแบบเป็นทางการ) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง ยกเว้นผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน และเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครอง


3. มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่พบเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางกรณีตรวจพบการติดเชื้อ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และทำประกันสุขภาพ อย่างน้อย 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐ


4. มีใบจองที่พักโรงแรม อาจเป็นสถานกักกันที่ที่ทางราชการกำหนด (AQ, OQ, AHQ) หรือ โรงแรมที่เป็น SHA+ ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อ ในวันแรกที่มาถึง โดยรวมค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR


5. เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) เดินทางโดยรถที่จัดไว้โดยมีการกำกับการเดินทาง เพื่อเข้าพักตามโรงแรมที่จองไว้ รพ.คู่ปฏิบัติการทำการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ในวันที่ 0-1 โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองและต้อง อยู่ในโรงแรม จนได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ


6. เมื่อผลการตรวจหาเชื้อ ไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางได้ ตามความต้องการ และจะพักในโรงแรมที่จองและจ่ายเงินไว้แล้วล่วงหน้า หรือกลับไปพักที่บ้าน (กรณีมีที่พำนักในไทย) ก็ได้ โดยโรงแรมจะแนะนำให้สังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน หากมีอาการ ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อจากโรงพยาบาลใกล้ที่พัก หรือตรวจ ATK ที่โรงแรม หากพบเชื้อรายงานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่


นายธนกร ยังได้กล่าวถึงสนามบินที่ปัจจุบันมีการบินระหว่างประเทศอยู่แล้ว ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (มีเที่ยวบิน Charter เท่านั้น) และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ (มีเที่ยวบิน Charter เท่านั้น) ส่วนสนามบินที่แจ้งความพร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ซึ่งจะยืนยันในวันที่ 27 ต.ค.นี้


ทั้งนี้ ททท. ได้ประมาณการแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลในวันที่ 1 พ.ย.64 แบบไม่ต้องกักตัว จะทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว โดยในไตรมาสที่ 4/2564 และ ไตรมาสที่ 1/2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในรูปแบบตัววี (V) และปีหน้าจะมีรายได้ประมาณ 50% ของปี 62 ที่มีรายได้ 2 ล้านล้านบาท และมีรายได้เพิ่ม 80% ของปี 62 ในปี 66


นายธนกร ย้ำขอให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล


ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงการเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยผ่านจุดวิกฤตต่ำสุด และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่กระบวนการเปิดประเทศ ที่นำร่องจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยได้มากขึ้น


โดยประเมินว่าในปีหน้า (2565) จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย ราว 10 ล้านคน สูงสุด 18 ล้านคน จากในช่วงปี 62 ก่อนโควิดระบาด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 39-40 ล้านคน แต่สิ่งที่ ททท. พยายามผลักดันคือ การปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มองตัวรายได้มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว โดยคาดหวังว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2565 จะกลับมาได้ถึง 50% ของรายได้ในปี 62 และปี 66 จะมีรายได้กลับมาที่ 80% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 62 กว่าครึ่ง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย


อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://youtu.be/ifqfGnYmOpo

คุณอาจสนใจ

Related News