พาดูนวัตกรรมรับมือภัยพิบัติ โดรนส่งของพื้นที่เข้าถึงยาก-ดาวเทียมวิเคราะห์น้ำท่วม

เทคโนโลยี

พาดูนวัตกรรมรับมือภัยพิบัติ โดรนส่งของพื้นที่เข้าถึงยาก-ดาวเทียมวิเคราะห์น้ำท่วม

โดย panwilai_c

22 ต.ค. 2564

138 views

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ ล่าสุดทางไปรษณีย์ไทยได้นำอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนมาทดสอบการใช้ส่งของให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนนำมาปรับใช้จริงในอนาคต ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาน้ำในภาพรวมก็สำคัญ ซึ่งจิสด้าก็ได้ใช้ประโยชน์จากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม สนับสนุนข้อมูลให้ทุกหน่วยงานแก้ปัญหาอุทกภัย



อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ถูกนำมาปรับใช้โดยไปรษณีย์ไทย เพื่อประโยชน์ในการรับส่งของให้กับประชาชนหรือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น พื้นที่ประสบภัย หรือ พื้นที่ที่การเดินทางเข้าไม่ถึง


ซึ่งนี่เป็นการทดสอบเบื้องต้น ด้วยการดัดแปลงโดนทางการเกษตรมาติดตั้งช่องเก็บพัสดุ รองรับน้ำหนักได้ สูงสุด 10 กิโลกรัม และสามารถดัดแปลงเพื่อรองรับน้ำหนักที่มากขึ้นได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้งานในพื้นที่ที่เปิดโล่งเพื่อการเชื่อมต่อสัญญาณ และ แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้เฉลี่ย 10-15 นาที เท่านั้น


เบื้องต้นโดรนรุ่นแรกจะเริ่มนำมาใช้ด้านสาธารณสุข บริการการส่งยาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านการขนส่ง


ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จนทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ดาวเทียมที่โคจรรอบโลก จะมีรอบการบันทึกภาพถ่ายทางอากาศต่างกันไป และ มีคุณสมบัติเฉพาะกับการใช้งาน ซึ่งสำนักงานพัฒนา หรือ จิสด้า ได้นำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กับการตรวจสอบปริมาณน้ำในพื้นที่น้ำหลากตลอดทั้งปี


ปริมาณน้ำจะปรากฏเป็นพื้นที่สีฟ้า ทำให้หน่วยงานที่ได้รับข้อมูลชุดนี้สามารถวางแผน การติดตามและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการฟื้นฟูในอนาคต อีกทั้งยังเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำในแต่ละปี เพื่อการคาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย


ขณะที่ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล กลายเป็นนโยบายระดับชาติที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดจิสด้าได้พัฒนานวัตกรรม ระบบรายงานข้อมูลน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ร่วมกับ UNOSAT ที่จะแสดงข้อมูลรายละเอียด พร้อมแสดงภาพ ให้ทุกคนอัปเดตสถานการณ์ในพื้นที่ได้แบบนาทีต่อนาที และในเร็วๆ นี้จะมีแอปพลิเคชันติดตามสภาพฝุ่นละอองและหมอกควันที่มักจะเป็นปัญหาทุกปีหน้าแล้ง ให้ประชาชนได้ติดตามและเช็คสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง

คุณอาจสนใจ