เหยื่อดูดเงิน ทยอยได้เงินคืนจากแบงก์ - ตร.พบคนร้ายอยู่ทั้งไทย-ตปท. เชื่อมีคนไทยร่วมเอี่ยว

เศรษฐกิจ

เหยื่อดูดเงิน ทยอยได้เงินคืนจากแบงก์ - ตร.พบคนร้ายอยู่ทั้งไทย-ตปท. เชื่อมีคนไทยร่วมเอี่ยว

โดย thichaphat_d

21 ต.ค. 2564

24 views

กรณีประชาชนหลายราย ถูกขโมยเงินจากบัญชีธนาคารโดยไม่รู้ตัว โดยมียอดเงินครั้งละน้อยๆ แต่หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน โดยพบบางราย ถูกขโมยเงินจากบัญชีไปสูงสุด หลักแสนบาท ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง


เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.64) เวลา 14.00 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมการกำหนดมาตรการการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้กับประชาชน ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย, ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ,ผู้แทนศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการสืบสวนสอบสวน กรณีการนำข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลทางการเงินไปใช้ในทางทุจริต ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และแนวทางป้องกันปราบปรามการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการ


พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า แนวทางในการสืบสวนตอนนี้ คือต้องหาบุคคลอยู่เบื้องหลังการนำเงินจำนวนกว่า 130 ล้านนี้ออกไปจากระบบ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตามในการนำเงินออกไป โดยจะตรวจสอบให้ครบทุกมิติในโลกไซเบอร์ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ และจะร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการหาเส้นทางการเงิน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินที่ออกไปถูกใครเอาไปใช้อย่างไร เพื่อหาต้นทาง ยืนยันว่าเส้นทางจราจรทางไซเบอร์ สามารถตรวจสอบได้


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการกระทำความผิดทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยฐานการกระทำความผิด มักจะอยู่นอกประเทศเพื่อให้ยากต่อการติดตาม แต่ตัวการหลักที่กระทำเชื่อว่ายังอยู่ในประเทศ ส่งต่อเงินไปยังบัญชีม้าหลายบัญชี แต่บัญชีสุดท้ายจะอยู่นอกประเทศ


อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.กรไชย ยืนยันว่าลักษณะของแก๊งดูดเงินนั้นไม่มีจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการหลอกให้เจ้าของบัญชีให้ข้อมูลตัวตนของตัวเองไป เพื่อที่มิจฉาชีพจะสวมรอยเอาเงินออกไปได้ ยืนยันว่าการดูดเงินออกไปเลยนั้นทำไม่ได้ เพราะมีระบบการป้องกันของธนาคารอยู่


พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวถึงการตรวจสอบต้นทางของมิจฉาชีพว่า ธนาคารจะมีข้อมูลว่าข้อมูลบัตรต่างๆ ถูกนำไปใช้จากที่ไหน แล้วตำรวจจะขอหลักฐานของผู้ให้บริการนั้นๆ มาประกอบ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ให้บริการในต่างประเทศ ก็สามารถประสานขอข้อมูลได้ เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ใช้บริการ แต่เนื่องจากจำนวนบัตรที่ถูกนำไปใช้มีเยอะ ขณะนี้จึงต้องรอให้ธนาคารรวบรวมพยานหลักฐาน และจะยื่นขอตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดพร้อมกันทีเดียว


ขณะเดียวกัน ตำรวจก็ต้องสืบสวนด้วยว่า ข้อมูลบัตรที่หลุดจากในประเทศ หลุดจากที่ไหน อย่างไร มิจฉาชีพที่แอบขโมยเอาข้อมูลไปขายก็จะต้องดำเนินคดีด้วย ด้าน นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า มาตรการของธนาคารตอนนี้ คือจะเร่งยกระดับการดูแลบัญชีของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น และหากพบร้านค้าที่น่าสงสัยว่าจะเป็นต้นตอของมิจฉาชีพ ก็จะบล็อกร้านค้าดังกล่าวเอาไว้ รวมถึงบัตรที่โดนแฮค ก็จะปิดบัญชีไว้ก่อนด้วย และในอนาคต จะพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังประสานกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้


รวมถึงจะพิจารณาการส่ง sms แจ้งเตือนการทำรายการ ให้เตือนตั้งแต่เงินออกจากบัญชีแม้เพียงบาทเดียว ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือความปลอดภัยแต่อาจจะไปรบกวนลูกค้า จึงอยากมุ่งไปที่การดูตั้งแต่ต้นทางมากกว่า คือหากรายการต้องสงสัยว่ามีความผิดปกติ ต้องไม่เรียกเก็บเงินได้เลย


ทั้งนี้ ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แฮคเกอร์ แต่มิจฉาชีพใช้ช่องว่างต่างๆ ในการกระทำให้ได้บัตรมาด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่การแฮคเข้าไปในระบบของลูกค้า ส่วนการดำเนินการคืนเงินให้ลูกค้า ยืนยันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับเงินคืนแน่นอนภายใน 5 วัน โดยธนาคารจะสำรองเงินจ่ายคืนไปก่อน ขณะนี้มีจำนวนกว่า 10,700 คน ที่ขอคืนเงินแล้ว ซึ่งธนาคารได้เริ่มทยอยคืนแล้ว โดยจะเร่งดำเนินการ มีการตรวจสอบทุกวัน


นอกจากนี้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก "แชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว" ยังคงมีผู้เสียหายแชร์ประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มกว่า 9 หมื่นคนแล้ว บางรายบอกว่า โดนแฮกข้อมูลบัตรเครดิตไป 2 แสนกว่าบาท เป็นสกุลเงินต่างประเทศ


บางรายบอกว่า วันที่ 3 ต.ค. ไปเปิดบัญชีใหม่ พร้อมทำบัตรเดบิต เปิดออนไลน์ วันที่ 4 ต.ค.นำบัตรเดบิตผูกเข้ากับpaypal วันที่ 5 ต.ค. ถอนเงิน ATM ปกติ วันที่ 6 ต.ค. โดนไป 34.41 บาท 2 รอบ วันที่ 8 ต.ค. โดนหลักหน่วย 5 รอบพร้อมระบุอีกว่า บัญชีนี้กะเปิดไว้สำหรับซื้อเกม สงสัยว่าโดนได้ไง ช่วงไหนที่โดนแฮ็ก ทั้งที่เพิ่งเปิดบัญชี


บางรายบอกว่า โดนไปเกือบ 60,000 บาท ไปแจ้งความแล้ว ทำเรื่องปฏิเสธการทำธุรกรรมแล้ว ธนาคารแจ้งว่า รอ 120 วัน ไม่รู้ว่าจะได้เงินคืนรึเปล่า เดือดร้อนมาก


บางรายบอกว่า ผมโดนไปเกือบ 1 แสนบาท โดนหักจากเฟซบุ๊กจากบัตรเดบิต ติดต่อไปธนาคาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าช่วยอะไรไม่ได้ ต้องให้เราดำเนินการติดต่อเฟซบุ๊กเอง


ส่วนอีกราย ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก “Oay Techahitunyakun” แชร์ประสบการณ์ ถูกแฮกบัตรเครดิตถึง 2 ใบ ตัดเงินเป็นค่าโฆษณาเฟซบุ๊ก ต้องดำเนินการติดต่อเฟซบุ๊กเองจนได้เงินคืน


โดย น.ส.ไอลดา เตชะหิรัญญากุล เผยว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ถูกแฮกบัตรเครดิตไป 2 ใบ ใบแรกมีการผูกบัตรไว้กับเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เมื่อเดือนมีนาคม มีการตัดเงินผิดปกติ 3 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกตัดเพียงหลักร้อย ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 ตัดเงินออกหลักพัน พอแอปแจ้งเตือนมาตนก็ตกใจ เพราะไม่ได้ทำรายการนี้ จึงโทรไปหาธนาคาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นการถูกหักจากทางเฟซบุ๊ก ธนาคารไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ต้องให้ทางเฟซบุ๊กเป็นผู้คืนเงินให้ ตนก็งงว่าตนไม่ได้ทำรายการนี้แต่ทำไมไล่ให้ไปตามกับเฟซบุ๊ก


ตนจึงไปค้นหาข้อมูลการโฆษณาที่ถูกหักเงินไป พบว่ามีชื่อเฟซบุ๊กของตนไปบูสโพสต์ให้กับร้านขายเสื้อผ้าในต่างประเทศ ตนจึงติดต่อไปทางเฟซบุ๊ก ซึ่งหาวิธีติดต่อยากมาก เมื่อติดต่อได้ ก็แจ้งกับทางเฟซบุ๊กให้รับทราบ พร้อมส่งหลักฐานให้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการตรวจสอบ และทำเรื่องคืนเงินให้ ตนจึงปิดบัตรเครดิตดังกล่าวไปทันที พร้อมเปลี่ยนรหัสผ่านเฟซบุ๊ก และใช้การยืนยันตัวตน 2 ชั้น


ต่อมา เดือนสิงหาคม ก็ถูกแฮกบัตรเครดิตใบที่ 2 อีกครั้ง แต่เป็นบัตรคนละธนาคารกับใบแรก ซึ่งถูกหักค่าโฆษณาในเฟซบุ๊กเช่นเดียวกัน แต่บัตรใบนี้ตนไม่ได้ผูกกับเฟซบุ๊กแต่อย่างใด และเป็นบัตรที่ไว้ซื้อตั๋วเครื่องบินกับสายการบินอย่างเดียว ไม่มีการเอาไปรูดซื้อของ หรือใช้ซื้อของออนไลน์เลย ตนจึงติดต่อไปธนาคาร เจ้าหน้าที่ขอเวลาตรวจสอบแล้วก็เงียบหายไป ตนจึงติดต่อไปทางเฟซบุ๊กอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการตรวจสอบและทำเรื่องคืนเงิน จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้เสียหายรายอื่นๆที่ผูกบัตรไว้กับเฟซบุ๊ก และถูกหักค่าโฆษณาโดยไม่รู้ตัวสามารถติดต่อเฟซบุ๊กได้โดยตรง ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าการติดต่อธนาคาร



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/qIZ8YVRgLwk

คุณอาจสนใจ

Related News