จับตาปี65 ครบวาระ8ปี “พลเอกประยุทธ์” ?

เลือกตั้งและการเมือง

จับตาปี65 ครบวาระ8ปี “พลเอกประยุทธ์” ?

โดย JitrarutP

28 ก.ย. 2564

450 views

เปิดมุมมองทางกฎหมาย วาระนายกฯ 8ปี “พลเอกประยุทธ์” พ้นปีหน้า หรือลงชิงไปต่อถึงปี70 อดีตตุลาการชี้ รธน.ไม่ชัดเจน ขณะฝ่ายค้านแนะนายกฯโชว์สปิริต


กลายเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สมัยหนึ่งรัฐบาลมีวาระอยู่ได้คราวละ 4ปี ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกี่ครั้งกี่สมัย ตัวนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นนายกฯเกิน 8ปีไม่ได้ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่เกิดกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี คาบเกี่ยวจากรัฐบาล คสช. มาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้านับจากความเป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ ก็จะครบ 8ปี ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 ปัญหาคือจะนับ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ตอนไหน




     ถ้าไปดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 กำหนดว่า….“นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่...”


     และจากความไม่ชัดเจนว่าโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญพูดถึง จะนับอย่างไร ทำให้ตอนนี้มุมมองการครบวาระของ พลเอกประยุทธ์ 3 ทิศทาง




- มุมหนึ่งเห็นว่านับรวมทั้งหมดตั้งแต่ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา อย่างพลเอกประยุทธ์ ต้องนับตั้งแต่ ปี57 ก็จะครบ 8ปี ในปีหน้า


- มุมหนึ่งเห็นว่านับรวมทั้งหมดตั้งแต่ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมา อย่างพลเอกประยุทธ์ ต้องนับตั้งแต่ ปี57 ก็จะครบ 8ปี ในปีหน้า


- อีกมุมมองว่า ต้องนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือ ตั้งแต่ ปี2560 ก็จะครบ 8ปีใน ปี2568


- อีกมุม มองว่าเป็นได้ยาวสุด คือ ถึงปี 2570 คือนับการนายกฯ จากการเลือกตั้ง ปี2562


     แน่นอนว่ามุมฝ่ายค้าน อย่าง นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เห็นด้วยตามแนวทางที่1 คือนับวาระมาตั้งแต่ปี 2557 นายสุทินบอกว่า เรื่องนี้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ให้นับตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ดังนั้น เมื่อครบ 8ปี ในปี 2565 ควรต้องแสดงสปิริต แต่ถ้ายังดึงดันที่จะทำหน้าที่ต่อ ฝ่านค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ




     สอดคล้อง กับ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี2560 ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะบุคคล คนที่เข้ามาต้องรู้ว่าในชีวิตนี้เป็นนายกฯมาแล้วกี่ปี ซึ่งการร่างมาตรานี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนั้น มีการกำหนดจุดมุ่งหมายอธิบายความไว้ชัดเจน ว่าเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ แบบที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้เพื่อแก้ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540


    “นับตำแหน่งก็ต้องนับที่ตัวบุคคลจะไปนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลได้ยังไง ถ้านับตามรัฐธรรมนูญอย่างนั้นก็สบายใครอยากดำรงตำแหน่งนานๆก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแก้รัฐธรรมนูญบ่อยๆ หรือถ้าพลเอกประยุทธ์อยากเป็นต่อก็เรียกคนมาปฏิวัติให้สิ....”ดร.เจษฎ์ กล่าว




    แตกต่างจากความเห็นของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กรรมการ กกต. มองว่าโดยหลักการแล้วกฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง เพื่อความเป็นธรรมของประชาชนทั่วไป ดังนั้นถ้านับจริงๆก็ต้องนับจากวันที่รัฐธรรมนูญปี2560 มีผลบังคับใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่ พลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญ2560 ซึ่งก็ยังมีโอกาสเป็นนายกฯไปได้ ถึง ปี2568 แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะเป็นผู้วินิจฉัย


     และถ้าไปดูมุมมองอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่าง ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ก็ยอมรับกับทีมข่าวการเมืองช่อง3 ว่า เรื่องโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีปัญหาเพราะเขียนการนับวาระไม่ชัดเจน ทำให้ต้องไปดูองค์ประกอบของมาตราอื่นๆมาผนวก ซึ่งจะพบว่า มาตรา 264 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดรอยต่อไว้แล้วว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 ประกาศใช้ ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ (ปี2560) ซึ่งคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” เป็นการกำหนดเฉพาะเจาะจงชัดเจนว่าไม่ได้หมายรวมรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อีกทั้งเป็นการชี้ว่าคณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ตามคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี2560 จนเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จึงได้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560




     ดังนั้น เงื่อนไขการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญปี2560 บัญญัติไว้ โอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ 8ปีก็หมายถึง 8ปี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 การเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ ก็จะนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือ 6 เมษายน 2560


     ส่วนมุมมองที่ว่าควรนับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี2562 เพราะก่อนหน้านี้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวนั้น ศ.จรัญ ชี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติชัดเจนอยู่แล้วว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี2560ประกาศใช้ ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นหลังการเลือกตั้งปี2562 ดังนั้นมุมมองนี้ ขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชัดเจน



คอลัมน์ - ใต้เตียงการเมือง




คุณอาจสนใจ

Related News