กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส

โดย kodchaporn_j

23 ก.ย. 2564

19 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)


วันนี้ เวลา 13.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)


จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำองค์ความรู้เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ ภายใต้ชื่อ "สาระดี วีถีเกษตร กับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ" ทั้งจัดทำโครงการส่งเสริม และพัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ จำนวน 18 โครงการ เป้าหมายมีเกษตรกรเข้าร่วม 4,183 ราย


ผลการประกวดหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ โครงการ 9 ต่อ 10 ปฏิบัติบูชา "สืบสาน รักษา ต่อยอด" มีการประเมินหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ในการน้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ ซึ่งหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ บ้านพิกุลทอง , ด้านสังคม ได้แก่ บ้านโคกสยา และด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บ้านคีรี ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


ส่วนความก้าวหน้าโครงการรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองตามพระราชดำริ ได้สำรวจและรวบรวมพันธุ์กล้วย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดอื่น จำนวน 36 พันธุ์ และปลูกเพิ่ม 3 สายพันธุ์ คือ กล้วยนิ้วจระเข้ (ปีแซ ยะรี บอยอ) , กล้วยขนม (ปีแซ ตาปง) และ กล้วยเล็บม้า หรือกล้วยตานีกีบม้า


และส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อพันธุ์กล้วย 12 พันธุ์ เพื่อวิเคราะห์ และจัดทำแผนที่ DNA ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร บันทึกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และจัดทำฐานข้อมูลทางสัณฐานวิทยา พบว่ากล้วยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถต่อยอด และขยายผล รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ กล้วยหิน (ปีแซบาตู) , กล้วยหอม (ปีแซ ยะลอ) กล้วยน้ำว้า (ปีแซ หือละบาระ) และกล้วยเล็บมือนาง (ปีแซ ยาลีบอยอ)


โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์สำรอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในยามวิกฤต ปี 2564 ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร 263 ราย อาทิ เมล็ดพันธุ์พริกหยวก , กระเจี๊ยบเขียว , เมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์ซีบูกันตัง และพันธุ์หอมกระดังงา พร้อมให้คำแนะนำวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายผล


ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้สนองพระราชดำริ ทดลองปลูกกระจับในพื้นที่ดินเปรี้ยว ซึ่ง "กระจับ" ที่นิยมปลูกในภาคกลาง คือ กระจับพันธุ์เขาแหลม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 800 ถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ โดยจะประเมินความเหมาะสม ในการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ภายในศูนย์ฯ ได้จัดทำแปลงสาธิตปลูกผักปลอดสารพิษ จัดทำโรงเรือนเห็ดนางรมภูฏาน , เห็ดนางฟ้า , มีห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ สำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ในโครงการผลิตเมล็ดพันธ์พืช ยามวิกฤต และแปลงพริกไทย


ด้านโครงการผลิตและส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดไข่พระราชทาน ในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนเป็ดไข่สาว อายุ 20 สัปดาห์ จากศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พร้อมอาหาร ให้แก่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน และเกษตรกรในพื้นที่รอบศูนย์ฯ จังหวัดนราธิวาส 500 ตัว โดยแบ่งให้ 6 โรงเรียนๆ ละ 50 ตัว ส่วนเกษตรกร แบ่งให้ 20 รายๆ ละ 10 ตัว ทั้งนี้สำนักงาน กปร. ได้ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไข่ พร้อมลานปล่อย ณ ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์ โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ เพื่อเป็นแหล่งผลิตเป็ดไข่พระราชทานต่อไป


ส่วนโครงการผลิตและส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่พระราชทาน ในปี 2564 ทางศูนย์ฯ ได้ผลิตไก่อายุ 20 สัปดาห์ จำนวน 1,700 ตัว โดยได้รับการสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ จากศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย จังหวัดเลย จำนวน 180 ตัว โดยนำไปให้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ของโรงเรียนในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 29 โรงเรียนๆ ละ 50 ตัว พร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยง และอาหารไก่ไข่เบื้องต้น และสนับสนุนไก่อายุ 20 สัปดาห์


ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ขยายผลหมู่บ้านรอบศูนย์ และพื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ จำนวน 50 ครัวเรือนๆ ละ 5 ตัว พร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลี้ยง และอาหารไก่ไข่เบื้องต้น นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้ส่งมอบพันธุ์ไก่ไข่พระราชทาน 500 ตัวให้แก่ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการทดสอบการเลี้ยงไก่ไข่พระราชทาน ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อเก็บข้อมูลการให้ผลผลิต


สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ จำนวน 13 หมู่บ้าน รวม 2,999 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ส่วนบ้านพิกุลทอง มี 216 ครัวเรือน ประชากร 968 ราย ส่วนใหญ่ทำเกษตรแบบผสมผสาน ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมทางการเกษตร ให้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และราษฎรบริเวณใกล้เคียง จำนวน 2,000 ไร่ตามความต้องการ


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมแปลงเกษตรต้นแบบของนายดำ หะยะมิน ที่มีชีวิตพอเพียง และประสบความสำเร็จ จากการทำเกษตรผสมผสาน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยก่อนหน้านี้มีหนี้สินจากการทำอาชีพก่อสร้าง และเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เข้ามาขุดคู-ยกร่อง เพื่อทำการเกษตร และมีหน่วยงานต่างๆ


เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส กับสำนักงานชลประทานที่ 17 มาคอยเป็นพี่เลี้ยง ปัจจุบันทำนาผักบุ้งในพื้นที่ 6 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และเลี้ยงกบในกระชัง 900 ตัว มีรายได้รวมปีละหลายแสนบาท นอกจากนี้ ยังปลูกพืชสมุนไพรด้วย ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ 60 ราย รวมทั้ง เลี้ยงเป็ดพันธุ์กากีแคมเบล์ จำนวน 200 ตัว มีรายได้จากการจำหน่ายไข่เป็ด ปีละเกือบ 200,000 บาท