ย้อนรอยชีวิต 'ทนง โพธิ์อ่าน' วีรบุรุษนักสู้เพื่อสิทธิแรงงานที่ถูกอุ้มหายกว่า 30 ปี

เลือกตั้งและการเมือง

ย้อนรอยชีวิต 'ทนง โพธิ์อ่าน' วีรบุรุษนักสู้เพื่อสิทธิแรงงานที่ถูกอุ้มหายกว่า 30 ปี

โดย panwilai_c

17 ก.ย. 2564

60 views

หลังจากเมื่อวานนี้สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย โดยให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน เพื่อแปรญัตติใน 7 วัน ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมไทยตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน


หนึ่งในนั้นคือนายทนง โพธิ์อ่าน อดีตแกนนำแรงงานคนสำคัญของประเทศ ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาถูกอุ้มหายไป หลังจากประกาศจะนำปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในยุค รสช.ไปประจานในระหว่างการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือILO ซึ่งเขาถูกอุ้มหายก่อนเดินทางไปประชุมเพียง 1 วัน


ชายรูปร่างสูง พูดจาเสียงดัง และกล่าวอย่างตรงไปตรงมาคนนี้ คือทนง โพธิ์อ่าน บุคคลธรรมดาแต่มีอิทธิพล และบทบาทในกลุ่มแรงงานอย่างมาก เพราะทนง เป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด และเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค


ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ที่ประเทศขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม ที่เรียกกันว่ายุคนิค องค์กรแรงงานมีบทบาทสำคัญมาก ชนิดที่ว่าทั้งภาครัฐและเจ้าของโรงงานต่างกังวลกันมาก หากแรงงานนัดชุมนุม ประท้วง เพราะจะทำให้กิจการชะงักได้ ขณะที่ ทนง โพธิ์อ่าน ใช้ช่วงเวลานั้นผลักดันสิทธิ สวัสดิการแรงงานหลายประการ เช่น ทั้งเปลี่ยนค่าจ้างลอยตัว เป็นค่าแรงขั้นต่ำ และกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น


แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ รสช.ปี 2534 จนเกิดการเผชิญหน้าขององค์กรด้านแรงงาน กับคณะรสช. แม้ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นจะกล่าวว่า ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร แต่นายทนง ตอบโต้ว่านั่นเป็นเพียงลมปากที่เชื่อถือไม่ได้ การตอบโต้อย่างตรงไปตรงมา ของทนง เป็นสิ่งที่คนทั่วไปพบเห็นเสมอ แม้ในเวทีอื่นๆ


อดีตนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานคนหนึ่ง ที่เคยใกล้ชิดกับทนง บอกว่าเขาเห็นกับตา ได้ยินกับหู ช่วงที่ทนง ตอบโต้ทหารอย่างหนัก ถึงการรัฐประหารในขณะนั้น


ทนง ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการที่รสช. จะแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน โดยระบุว่าเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งขององค์กรแรงงาน เพราะเป็นการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ


ในเดือนมิถุนายน 2534 ทนง จะเป็นผู้แทนคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ทที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ชนิดที่แม้หน่วยงานรัฐจะห้าม และไม่สนับสนุนการเดินทาง แต่สมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค ที่เขาเป็นกรรมการอยู่ ก็สนับสนุน จนได้โอกาสไปร่วมประชุม โดยทนงประกาศว่าจะนำปัญหาการยุบองค์กรแรงงานในไทย ไปประจานในเวทีประชุม ILO ด้วย แต่การประกาศของนายทนง ก็ถูกจับตาจากคนในภาครัฐ อย่างใกล้ชิด


ทนงมีกำหนดเดินทางในวันที่ 20 มิถุนายน 2534 แต่ 1 วันก่อนเดินทาง คือ 19 มิถุนายน 2534 มีคนพบรถยนต์ของทนง จอดอยู่ที่หน้าสหภาพขนส่งสินค้าขาออก ที่เขาเป็นประธาน แต่ไม่มีใครพบเห็นทนงอีกเลย จนกระทั่งวันนี้เป็นเวลา30 ปี แล้ว


ทนง โพธิ์อ่าน กลายเป็นหนึ่งในหลายคน ที่ถูกนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหว และสังคม พูดถึงเสมอในฐานะนักเคลื่อนไหวที่ถูกอุ้มหาย หรือบังคับสูญหาย และแม้ไม่ปรากฎตัวผู้กระทำชัดเจน แต่จากร่องรอยความขัดแย้งก็ทำให้สังคมมองเห็นคู่กรณีได้


และปีนี้ 2564 ที่สภารับหลักการ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีชื่อทนง โพธิ์อ่าน ถูกอ้างอิงถึง แต่คนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ทนงถูกอุ้มหาย ก็ยังเป็นปริศนา

คุณอาจสนใจ

Related News