เจาะลึกเมียนมา เมื่อวิกฤตการเมืองมาพร้อมโรคระบาด

ต่างประเทศ

เจาะลึกเมียนมา เมื่อวิกฤตการเมืองมาพร้อมโรคระบาด

โดย thichaphat_d

5 ส.ค. 2564

71 views

การรับมือกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสาธารณสุข แต่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการเมืองและรัฐบาลในประเทศ ท่ามกลางปัญหาการเมืองที่รุมเร้า เมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤติการล่มสลายของระบบสาธารณสุขที่ไม่ใช่แค่กระทบต่อผู้คนภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างซึ่งทางหน่วยงาน แพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) ระบุว่าเป็นการแพร่ระบาดในชุมชนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสถานการณ์ที่วิกฤติได้ถูกซ้ำเติมด้วยการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาลทหาร


อัตราการป่วยโควิดและการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าทำให้เกิดความกังวลว่าเมียนมาอาจกลายเป็น โควิดซุปเปอร์สเปรดเดอร์ และนำไปสู่โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในอนาคต ขณะที่บาร์บารา วูดวาร์ด เอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำยูเอ็น เตือนว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเมียนมาอาจติดโรคโควิด-19 ในอีกสองสัปดาห์หลังจากนี้


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าที่มีส่วนเกียวข้องในการทำอารยะขัดขืนต้านรัฐบาลทหารได้ถูกจับกุมตัว และมีรายงานการคุกคามด้านสาธารณสุขกว่า 200 ครั้ง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนที่ไม่มีทางเลือก ต้องต่อแถวยาวรอซื้อออกซิเจนจากโรงงานหลังจากที่รัฐบาลได้แบนการขายออกซิเจนโดยตรงแก่สาธารณะด้วยความหวังว่าพวกเขาจะสามารถรอดพ้นจากช่วงเวลาที่แสนยากลำบากนี้ไปได้


ยูเอ็นชี้ เมียนมาเผชิญ "เพอร์เฟกต์ สตอร์ม" มรสุมรุมเร้า ด้าน ทอม แอนดริวส์ ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ชี้ว่า เมียนมากำลังเผชิญกับ "เพอร์เฟกต์ สตอร์ม" หรือมรสุมที่รุมเร้า ประกอบไปด้วยวิกฤติสามประการ ได้แก่ การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย และความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลทหาร ซึ่งสามปัจจัยนี้เป็นมรสุมที่รุมเร้าอย่างสมบูร์ณแบบ ที่จะนำไปสู่การล้มตายของชาวเมียนมาหากนานาชาติไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


วิกฤติในเมียนมาได้ถูกซ้ำเติมด้วยความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลทหาร ซึ่งนายแอนดริวส์ ให้ความเห็นว่านานาชาติต้องเร่งจัดตั้งหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือการเมือง เพื่อประสานงานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประชาชนเชื่อถือ


ขณะที่เมียนมาต้องเผชิญกับการขาดแคลนออกซิเจนอย่างหนัก กลับมีรายงานว่าสมาชิกของกองทัพได้ยึดถังออกซิเจนจำนวน 100 ถัง ที่นำเข้าจากประเทศไทย ผ่านองค์กรการกุศลในย่างกุ้ง เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยอ้างว่าจะนำไปกระจายให้ผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจนฉุกเฉิน ซึ่งสวนทางกับข้อมูลจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ายึดถังออกซิเจนในลักษณะคุกคาม โดยใช้ผู้ป่วยโควิด-19 ในรัฐกะเหรี่ยง เป็นข้ออ้าง


ก่อนหน้านี้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคแน่นอนในอนาคต และฟื้นฟูประชาธิปไตย นอกจากนั้นเขายังพร้อมจะให้ความร่วมมือกับผู้แทนพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งโดยอาเซียนด้วย


การประกาศท่าทีดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ในวันจันทร์นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนจะมีนัดหารือกัน โดยมีจุดประสงค์ที่จะแต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อเข้าไปเจรจายุติสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา และจะส่งเสริมให้เกิดการเจรจากันระหว่างกองทัพเมียนมาและฝ่ายค้านด้วย


องค์การสหประชาชาติ จีน และสหรัฐอเมริกา ต่างแสดงความเห็นตรงกันว่ากลุ่มสมาชิกอาเซียน ที่มีสมาชิก 10 ชาติ น่าจะเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยหาแนวทางในการฟื้นฟูเสถียรภาพในเมียนมาได้ หลังจากเสถียรภาพสั่นคลอนนับตั้งแต่ถูกรัฐประหาร มีการชุมนุมประท้วงและปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง บวกกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม และเกิดวิกฤติด้านมนุษยชนในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนเริ่มมีการหารือเพื่อสรรหาทูตพิเศษตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีองค์การสหประชาชาติ และสหรัฐอเมริกา คอยเร่งรัดให้มีการคัดสรรทูตพิเศษให้แล้วเสร็จโดยเร็ว


รายชื่อของผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้ทำหน้าที่เป็นทูตพิเศษของอาเซียนทั้ง 4 คน คือ นาย อีริวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไนคนที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ระหว่างปี 1991-1994 และนายฮัสซัน วิจายา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมา เมื่อครั้งพายุไซโคลนนาร์กิสถล่ม รวมทั้ง นายราซาลี อิสมาอิล นักการทูตจากมาเลเซีย ขณะเดียวกันที่ประชุมอาเซียนก็จะมีการหารือถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเมียนมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ด้วย


อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมากล่าวเป็นนัยว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะถูกบังคับใช้ไปจนถึงปี 2566 “เราจะบรรลุเป้าหมายของประกาศภาวะฉุกเฉินภายในเดือนสิงหาคม 2566” หมายความว่า กองทัพจะปกครองเมียนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีครึ่ง แทนที่จะเป็น 1 ปีตามที่พวกเขาประกาศไว้หลังก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.


เมียนมากำลังเผชิญการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 300,000 ราย เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 9,300 ศพ แต่จำนวนที่แท้จริงเชื่อว่าสูงกว่านี้ เนื่องจากมีการตรวจโรคอย่างจำกัด ขณะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังพังทลาย เนื่องจากผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารจำนวนมาก เป็นบุคลากรทางการแพทย์


ในการแถลงผ่านโทรทัศน์ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย กล่าวหาผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารว่า จงใจแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 และว่ามีการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับนโยบายรับมือโควิดของรัฐบาลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเขาเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นการก่อการร้ายทางชีวภาพ


สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม อันเป็นวาระครบรอบ 6 เดือนที่กองทัพก่อรัฐประหาร บรรดาชาวเมียนมาในหลายๆ หัวเมือง พากันออกมาเดินขบวนประท้วง และแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหารเป็นกลุ่มย่อย โดยผู้ประท้วงในเมืองกาเล ทางตอนเหนือของประเทศ พากันชูแผ่นป้าย “เพื่อความเข้มแข็งของขบวนการปฏิวัติ” ในขณะที่บรรดาผู้ประท้วงในนครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ พากันจุดพลุแฟร์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านอีกด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News