ชีวิตเหลือเชื่อ จาก ดร.สาขาคณิตศาสตร์ สู่นักปั่นเหรียญทองโอลิมปิก

ต่างประเทศ

ชีวิตเหลือเชื่อ จาก ดร.สาขาคณิตศาสตร์ สู่นักปั่นเหรียญทองโอลิมปิก

โดย thichaphat_d

5 ส.ค. 2564

136 views

โอลิมปิกเกมส์ 2020 เปิดฉากจนถึงตอนนี้ หนึ่งในเหรียญทองที่จัดได้ว่า “เซอร์ไพรส์” ที่สุด คงต้องยกให้การแข่งขันจักรยานประเภทถนน บุคคลหญิง ซึ่งเหรียญทองตกเป็นของ อันนา คีเซนโฮเฟอร์ จากออสเตรีย


ประการแรกคือ ก่อนหน้าการแข่งขันจะเปิดฉาก ทุกคนพุ่งเป้าไปที่แชมป์เก่า แอนนา ฟาน เดอร์ เบรกเกน จากเนเธอร์แลนด์, เอลิซ่า ลอนโก้ บอร์กินี่ อดีตเหรียญทองแดงจากอิตาลี, แอนเนมีก ฟาน วลูเทน อดีตแชมป์โลกชาวดัตช์ รวมถึงนักปั่นชั้นนำอีกหลายคน


แต่ไม่มีชื่อของคีเซนโฮเฟ่นที่เพิ่งเทิร์นโปรเมื่อปี 2017 แถมยังไม่ได้มีผลงานโดดเด่นในระดับโลกนัก


กลายเป็นว่า นักปั่นสาววัย 30 ปี ทำให้วงการจักรยานต้องอึ้งไปตามๆ กัน เมื่อเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในการแข่งขันประเภทถนน ระยะทาง 147 กิโลเมตร ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนชื้นที่แสนทรมาน คว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาจักรยานเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1896 ให้กับออสเตรีย


แถมไม่ใช่คว้าเหรียญทองธรรมดา แต่ทำเวลาทิ้งห่างฟาน วลูเทน อันดับสอง ถึง 75 วินาที ชนิดที่ฟาน วลูเทน เข้าเส้นชัยไปแล้วแต่ยังนึกว่าตัวเองคว้าเหรียญทองอยู่เลย


ที่น่าสนใจเข้าไปอีกคือ หลังจากเทิร์นโปรและทดลองสังกัดทีมจักรยานอาชีพ ล็อตโต้ ซูดาล คีเซนโฮเฟอร์ตัดสินใจออกมาเป็นนักปั่นอิสระในปี 2017 เพราะรู้สึกว่าการซ้อมและปั่นเป็นทีมไม่ใช่สไตล์ของตัวเอง อยากจะมีอิสระในการวางแผนการซ้อมด้วยตัวเอง รวมถึงสมัครร่วมแข่งขันด้วยตัวเองมากกว่า


สื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง ซีเอ็นเอ็น บอกว่า ความที่ไม่ได้ซ้อมกับบรรดาโปรคนอื่นๆ ในด้านสมรรถภาพทางร่างกายของเธออาจจะเป็นรองคู่แข่ง แต่คีเซนโฮเฟอร์ก็มีมันสมองมาเป็นสิ่งทดแทน


อันนา คีเซนโฮเฟอร์ จบการศึกระดับปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ และจบปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งกาตาลุนญ่าในบาร์เซโลนา ประเทศสเปนโดยปัจจุบัน เธอมีอาชีพหลักเป็นนักวิจัย รวมถึงรับงานสอนที่สถาบันเทคโนโลยีในนครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วย


ก่อนหน้านี้เธอเป็นนักไตรกีฬาสมัครเล่น แต่ปัญหาบาดเจ็บทำให้วิ่งไกลๆ ไม่ได้อีก จึงผันตัวมาขี่จักรยานเต็มตัว และทำผลงานได้ดีในการแข่งขันจักรยานสมัครเล่นที่สเปนเมื่อปี 2016 ระหว่างกำลังเรียนปริญญาเอกไปด้วย จนได้รับการทาบทามร่วมทีมอาชีพในปีถัดมา


คีเซนโฮเฟอร์ใช้ความรู้ระดับดอกเตอร์ของตัวเอง วางแผนเรื่องการซ้อม แผนโภชนาการ รวมถึงแผนการขี่ระหว่างแข่งขัน


“ในฐานะนักคณิตศาสตร์ คุณคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ฉันก็ใช้วิธีนั้นในการขี่จักรยานค่ะ เพราะนักปั่นส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการให้คนอื่นวางแผนให้ มีเทรนเนอร์ มีนักโภชนาการดูแล มีคนวางแผนการขี่ให้ แต่ฉันทำทั้งหมดนั้นด้วยตัวเอง”


หนึ่งสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการสังกัดทีมอาชีพช่วงสั้นๆ คือ อย่าเชื่อในทุกสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน บางคนบอกว่ารู้ หรือแนะนำให้ทางอย่างนู้นอย่างนี้ แต่จริงๆ อาจจะไม่รู้อะไรเลย แม้แต่ป้ายบอกระยะห่างระหว่างนักแข่ง ตนยังไม่ค่อยอยากเชื่อสักเท่าไร


น่าคิดว่า การที่เธอฉีกขึ้นนำก่อนถึงเส้นชัยราว 40 กม. ขณะที่กลุ่มตามมัวแต่ระวังกัน แม้แต่ฟาน วลูเทน ที่เข้าที่สองยังนึกว่าตัวเองชนะ เป็นเพราะความประมาท ไม่ใส่ใจในตัวคีเซนโฮเฟอร์ หรือเพราะเชื่อในตัวเองมากเกินไปประสามืออาชีพหรือไม่?


คีเซนโฮเฟอร์บอกว่า กุญแจสู่ความสำเร็จคือ การกล้าที่จะแตกต่าง เมื่อตัวเองทำสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนคนอื่น จึงเป็นคนที่ใครก็คาดเดาไม่ได้ และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน ไม่มีใครคิดว่าตนจะชนะ


ส่วนตัวเธอเองถึงจะรู้ว่าโอกาสจะไม่มาก แต่ก็หวังอยู่ลึกๆ ในใจว่าตัวเองอาจจะชนะได้ เพราะถ้าสามารถพาตัวเองไปจนถึงเส้นสตาร์ตได้ นั่นหมายความว่าตัวเองเตรียมตัวมาแล้ว และมีเป้าหมายที่ชัยชนะ จึงทุ่มสุดตัวแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต


ตอนที่ฉีกออกจากกลุ่มขึ้นมานำเดี่ยวช่วง 40 กม.สุดท้าย ยิ่งใกล้เส้นชัย สิ่งที่สร้างกำลังใจให้คีเซนโฮเฟอร์ขี่ไปจนจบได้คือการคิดถึงครอบครัว เพื่อน อดีตโค้ช และบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งให้กำลังใจอยู่ที่บ้านเกิด


จริงๆ แล้ว ตอนที่เธอตัดสินใจหันมาขี่จักรยานจริงจังถึงขั้นเทิร์นโปร ครอบครัวไม่ได้ “อิน” กับเรื่องนี้นัก เพราะไม่ค่อยรู้จักกีฬานี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เธอมีความสุข พวกเขาจึงพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่


ขณะเดียวกันก็ยังมีลูกศิษย์ลูกหาในมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษามักจะค้นชื่อของเธอทางกูเกิล เมื่อรู้ว่าเธอเข้าแข่งขันด้วยก็ส่งกำลังใจมาให้ ซึ่งตอนนี้เธอก็พร้อมที่จะกลับไปสอนในเทอมหน้าพร้อมกับดีกรีพิเศษอย่างแชมป์โอลิมปิกแล้ว


คีเซนโฮเฟอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงจะกลายเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนไป อยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม และกลับไปเจอครอบครัวที่รออยู่ เรื่องอนาคตกับการแข่งขันจักรยาน คงต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร


ส่วนการเป็นม้ามืดที่ก้าวข้ามอุปสรรคและการมองข้ามของคนอื่นจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้นั้น เธอหวังว่านี่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน ขออย่ายอมแพ้ อย่าหยุดฝัน ให้มุ่งมั่นพยายาม

คุณอาจสนใจ

Related News