กกร.หั่นจีดีพีปี 64 ติดลบ 1.5 ถึง 0% หวั่นศก.ไทยถดถอยหนัก แนะรัฐคายอำนาจนำเข้าวัคซีน - ผลิตยา

เศรษฐกิจ

กกร.หั่นจีดีพีปี 64 ติดลบ 1.5 ถึง 0% หวั่นศก.ไทยถดถอยหนัก แนะรัฐคายอำนาจนำเข้าวัคซีน - ผลิตยา

โดย thichaphat_d

5 ส.ค. 2564

33 views

เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.64) นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2564 ลงมาอยู่ในกรอบติดลบ 1.5-0% จากประมาณการครั้งก่อนอยู่ที่ 0-1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 และมาตรการจากภาครัฐ


โดยนายผยงกล่าวว่า "ที่ประชุมได้ประเมินการยกระดับและขยายพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ใกล้เคียงกับเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายของประชาชนลดลงมาก แต่ก็เป็นการปรับตามสถานการณ์ที่มีการระบาดในต่างจังหวัด เบื้องต้นประเมินผลกระทบทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้มเสียหายเดือนละ 300,000-400,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ


หากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 4 ของปีนี้ รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม”


นายผยง กล่าวต่อว่า ในส่วนของการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 10-12% จากเดิมคาดไว้ที่ 8-10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี แต่จำเป็นต้องดูแลซัพพลายเชนไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% โดยมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า


อย่างไรก็ตาม กกร.ยังไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีคำสั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ได้ โดยรัฐต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโดยเฉพาะสายพันธ์เดลต้าที่มีอัตราการกระจายมากและรวดเร็ว เพิ่มความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีน การกักรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านหรือบริษัท ควบคู่กับการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการหยุดดำเนินกิจกรรมหรือปิดธุรกิจ สร้างความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจ


นายผยง กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจที่ถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาครัฐจำเป็นสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมเรื่องความเพียงพอของงบประมาณ ด้วยการขยายเพดานหนี้สาธารณะให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% ต่อจีดีพี เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ


” พร้อมกันนี้ขอให้ขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปีของการจัดเก็บภาษีปีภาษี 2565 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2565 ขณะเดียวกัน เสนอให้ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี 3 ปี ”


ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์ของไทยเวลานี้ย่ำแย่ ซึ่งโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวคงลำบาก และไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะขนาดล็อกดาวน์บางพื้นที่ยังแย่ขนาดนี้ ถ้าล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เศรษฐกิจจะแย่ขนาดไหน ดังนั้นรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาการบริหารจัดการฉีดวัคซีน สิ่งสำคัญคือ รัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด พร้อมดูแลค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนที่ประมาณ 2,000 บาทต่อคน คุ้มค่ากว่าการแจกเงินเยียวยาแต่ระบบสาธารณสุขยังไม่สามารถรองรับหรือแก้ไขสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นได้


"กกร. ขอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย ให้องค์การอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากขึ้น ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 และให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ที่กำลังมีความต้องการสูงด้วย


ส่วนนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ทั้งหมด เพราะถ้าเราไม่สามารถจัดหาวัคซีนและแยกคนป่วยออกมาจากคนไม่ป่วยได้ การล็อกดาวน์ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น สะท้อนได้จากระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้แล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/njbcpksTNeY

คุณอาจสนใจ