เปิดเบื้องหลัง นายกฯ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับมือข่าวปลอม รมว.ดีอีเอส ชี้จำเป็นเพราะอยู่ท่ามกลางสงคราม

เลือกตั้งและการเมือง

เปิดเบื้องหลัง นายกฯ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับมือข่าวปลอม รมว.ดีอีเอส ชี้จำเป็นเพราะอยู่ท่ามกลางสงคราม

โดย JitrarutP

2 ส.ค. 2564

163 views

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 29 ห้ามนำเสนอข่าวอันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือ ข้อมูลที่เจตนาบิดเบือน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย แน่นอนว่าเป้าประสงค์หลักของมาตรการครั้งนี้ หวังผลที่จะควบคุมปัญหาข่าวปลอมที่กำลังแพร่ระบาด โดยเฉพาะ ข่าวปลอมในสภาวะการแพร่แระบาดของโรค โควิด19 และความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดจากทั้งสื่อ ทั้งประชาชน และความไม่ชัดเจนในหน่วยงานของรัฐเอง




ทำไมต้องควบคุมข่าวปลอม?

    ในมุมของบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ มองว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสับสนในข้อมูลที่เกิดกับประชาชนมีจำนวนมาก ทั้งเรื่องยาที่ใช้รักษาโควิด19มีการแอบอ้างเกิดขึ้นหลายยี้ห้อ ข่าวปัญหาการจัดการวัคซีนโควิด19 ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการรักษา เรื่องวิธีการจัดสรรให้กับประชาชน รวมไปถึงข่าวปลอมที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมของรัฐที่ทำให้สับสนอลม่านไปหมด ซ้ำร้ายยังมีการหวังผลจากสถานการณ์จัดฉากแกล้งตายถ่ายรูปแพร่เผยแพร่ลงสู่โลกออนไลน์ เพื่อซ้ำเติมสถานการณ์ที่รุนแรงอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก นำมาสู่ความสับสนในการทำงานของบุคลากร หลายคนยังหาผลประโยชน์จากการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เปิดเท็จ ถึงขั้นชักชวนกันติดเชื้อเพื่อหวังเงินค่าประกัน สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีการควบคุมข่าวปลอม ผ่านการใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน



ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดเผยว่า ปัญหาข่าวปลอมนับตั้งแต่เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อ 1 พ.ย. 2562 – 26 ก.ค. 2564 มีข้อความเข้าสู่การตรวจสอบมากถึง 206,015,276 ข้อความ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสุขภาพ รองลงมาเปิดเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล เรื่องทางเศรษฐกิจ และเรื่องภัยพิบัติ ในจำนวนนี้มีข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณืโควิด19 ตั้งแต่ปี 2563 มากถึง 98 ล้านข้อความ ที่เข้าสู่ระบบการตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม



สื่อไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าว

    แน่นอนว่า ประกาศดังกล่าวจะมีผลต่อแวดวงสื่อสารมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้สื่อมวลชนต้องทบทวนการทำงานที่หันมาใช้ข้อมูลจากโลกออนไลน์มากขึ้นจนบางครั้งสื่อก็ตกเป็นเหยื่อจากสถานการณ์ข่าวปลอมเสียเอง หรือเจตนาในการนำเสนอที่หวังปลุกเร้าอารมณ์คนดูหรือสร้างจุดสนใจเพื่อหวังผลในทางธุรกิจ แต่การทำหน้าที่ของสื่อยืนอยู่บนหลักการทางเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่คอยทำหน้าที่แทนประชาชนในการแสวงหาข้อเท็จจริงมานำเสนอ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ร่วมกัน แต่ข้อกำหนดที่ออกมายังมีความคลุมเครือที่สงผลให้สื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้ โดยเฉพาะเรื่องจริงที่น่าหวาดกลัว ที่ในประการขอกำหนดฉบับดังกล่างระบุว่า “ห้ามนำเสนข้อมูลอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว”



    มุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คำดังกล่าวหมายถึงความจริงที่หวาดกลัวก็ถือว่ามีความผิด และความผิดตามประกาศฉบับนี้มีโทษทางกฏหมายอาญาด้วย ดังนั้นข้อห้ามที่มีโทษทางอาญาโดยหลักกฎหมายแล้วควรกำหนดให้ชัดเจน นี่จึงเป็นเหตุผลที่สื่อมวลชนจำนวนมากไม่ยอมรับประกาศดังกล่าว


    ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าตนเองเห็นด้วยกับการควบคุมข่าวปลอมในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ไม่ควรควบคุมไปถึงเรื่องจริงที่ไม่ใช่ข่าวปลอม เพราะมาตรการนี้ไม่ได้ส่งผลแค่สื่อมวลชนแต่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียก็จะโดนไปด้วย



    ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กรรมการ กสทช. กล่าวว่าการจัดการปัญหาข่าวปลอมในหลายประเทศมีการแก้ปัญหาโดยจัดทำระบบข้อมูลเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องเองได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งรัฐควรมีฝ่ายมอนิเตอร์ข่าวหากพบว่าไม่เป็นความจริงก็ควรนำข้อมูลที่ถูกต้องเข้าสู่ระบบกลาง นำข้อมูลที่เป็นหลักฐานมาโต้แย้งข่าวลวงได้ และรัฐควรร่วมมือกับสื่อมวลชนในการโต้แย้งข่าวปลอม สนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้องให้สื่อมวลได้มีข้อมูลในการโต้แย้ง ไม่ผลักสื่อมวลชนให้อยู่ฝ่ายตรงข้าม แล้วให้สื่อไปคว้าข้อมูลจากตามเพจต่างๆที่มีคนวิเคราะห์ไว้ซึ่งหลักทางวารสารศาสตร์ไม่ควรเป็นแบบนี้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นความขี้เกียจของสื่อเอง ดังนั้นรัฐเองก็ควรสร้างกระบวนการรับรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อในระยะยาวด้วย




    ขณะที่ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ ของนิด้า ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กล่าวว่า ในวิกฤตโควิด 19 ของทั่วโลก มีวิกฤตซ้อนอยู่ 2 เรื่องก็คือ วิกฤตโรคระบาด (pandemic) และวิกฤตข้อมูลเท็จระบาด (infodemic) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย และปัญหาข้อมูลเท็จนี้ส่งผลเสียต่อการควบคุมโรคระบาดให้สำเร็จด้วย เพราะก่อให้เกิดความสับสน ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการ และไม่ทำตาม นั้นดังนั้นการจัดการกับข่าวปลอม จึงมีความสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมโรคด้วย ซึ่งในสภาวะวิกฤต อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการเดิมที่ล่าช้าและมีขั้นตอนมาก จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดมากขึ้นกับข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชนมากเกินสมควร ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา และเกิดประโยชน์กับสาธารณะมากที่สุด


เบื้องหลังนายกฯใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


     นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่ามาตรการที่เข้มข้นขึ้น เป็นเพราะเราอยู่ในภาวะสงครามที่จะต้องต่อสู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จำเป็นที่หน่วยงานต้องยกระดับการทำงานให้เข้มข้นมากขึ้น ข้อมูลต่างๆที่สื่อสารต้องถึงประชาชนอย่างถูกต้องชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการแก้ปัญหาลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีบุคคลบางคนเจตนาไม่ดีมาออกข่าวบิดเบือน ข่าวปลอม หรือข่าวที่สร้างความตื่นตระหนก สื่อบางที่นำความเห็นของบุคคลเฉพาะกลุ่มมานำเสนอเพียงด้านเดียวจนทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สื่อมวลชนควรให้ข้อมูลอย่างรอบด้านมีความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลที่ตัวเองอยากให้เกิดขึ้นมาแล้วชี้นำไปในทางที่ไม่เหมาะสม ประกอบเป็นทราบกันว่าสื่อบางสำนักยังมีเรื่องทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังฝากถึงประชาชน โดยขอให้ทุกคนมีสติ ต้องดูก่อนว่าข่าวที่ได้รับเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ เป็นความเห็นของคนที่น่าเชื่อถือหรือไม่ และพิจารณษแหล่งที่มาของข่าว ผู้ให้ข่าว หากมาจากสื่อหลักก็น่าจะเชื่อถือได้ระดับหนึ่งแต่ต้องมีวิจารณญาณที่รอบคอบก่อนตัดสินใจเชื่อข้อมูล พร้อมย้ำว่าตามพระราชกำหนดที่ออกมาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะรวมมือกับตำรวจ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด


อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังเป็นปัญหาด้านการสื่อสารของรัฐบาล ที่กำลังใช้วิธีการแก้ปัญหาจากปลายเหตุและไม่ผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายที่ถูกบังคับใช้ นำมาซึ่งความเห็นต่าง ทั้งนี้มีรายงานว่ารัฐบาล เตรียมจะมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งในทางปฏิบัติ ต่อไป






คุณอาจสนใจ