เปิดเกณฑ์ด่านหน้ามีสิทธิ์ได้ฉีด 'ไฟเซอร์' เฉพาะแผนกผู้ป่วยโควิด - ฉีดแอสตราฯ แล้วไม่ได้

สังคม

เปิดเกณฑ์ด่านหน้ามีสิทธิ์ได้ฉีด 'ไฟเซอร์' เฉพาะแผนกผู้ป่วยโควิด - ฉีดแอสตราฯ แล้วไม่ได้

โดย thichaphat_d

31 ก.ค. 2564

509 views

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยแผนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส ให้ 4 ส่วนคือ


-กลุ่ม 1 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นเข็มที่ 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ตั้งเป้าไว้ที่ 7 แสนโดส ตามรายชื่อที่ทางโรงพยาบาลส่งชื่อมา

-กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ ใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวดตั้งเป้า 645,000 โดส

-กลุ่มที่ 3 เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ได้รับบริจาค จึงมีนโยบายต้องฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย โดยเน้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังและ หญิงตั้งครรภ์รวมถึงคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศนักเรียนนักศึกษาตั้งเป้ากลุ่มนี้ 150,000 โดส

-ส่วนที่ 4 สำหรับการทำศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม 5,000โดส


สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ในหนึ่งขวดต้องผสมน้ำเกลือตามสูตร จะได้วัคซีน 6 โดส ฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ไฟเซอร์สามารถฉีดได้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป


ส่วนการเก็บรักษาวัคซีน ต้องเก็บในอุณหภูมิ - 70 องศาฯ ( -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส ) อยู่ได้นานหกเดือน หากเก็บในอุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาฯ จะอยู่ได้นานหนึ่งเดือน ซึ่งขณะนี้หลังรับมอบ บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้นำวัคซีน 1.5ล้านโดสนี้ไปจัดเก็บที่ศูนย์คลังสินค้าบางนา ก่อนสุ่มตรวจโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนกระจายไปทั่วประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ตามแผนกรมควบคุมโรค


ขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อได้รับวัคซีนมาแล้ว ในช่วงวันที่ 2 สิงหาคมจะตรวจสอบ คุณภาพและความปลอดภัยรอบการผลิตวัคซีน จากนั้น ในวันที่ 5-6 สิงหาคม เริ่มจัดส่งวัคซีนล็อตแรก กระตุ้นเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และเข็มหนึ่งสำหรับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายถึงหน่วยบริการ


ส่วนวันที่ 7-8 สิงหาคม โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมฉีด / วันที่ 9 สิงหาคม หน่วยบริการเริ่มฉีดวัคซีน และหลังจากนั้นกลางเดือนสิงหาคม จะจัดส่งวัคซีนเข็ม 2 ถึงปลายเดือนสิงหาคม


นอกจากนี้มีการตั้งเกณฑ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ดังนี้

-บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานแผนกผู้ป่วยโควิด ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉินแผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใน Hospitel หรือปฏิบัติงานข้องเกี่ยวกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด


-มีชื่อปรากฏในฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) ว่าได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ระบุว่าเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และยังไม่ได้รับวัคซีน แอสตราเซเนกา เป็นเข็มกระตุ้น


ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ไม่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนไฟเซอร์ในล็อตนี้ ดังนี้

-ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็ม

-ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 แล้ว

-ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม และ แอสตราเซเนกา 1 เข็ม

-ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือ แอสตราเซเนกา มาเพียง 1 เข็ม

-ได้รับการฉีดวัคซีนอื่นๆ

คุณอาจสนใจ

Related News