รัฐสภาผ่านฉลุย พ.ร.บ. ประชามติ - จับตา ร่างแก้ รธน.เริ่มพรุ่งนี้

เลือกตั้งและการเมือง

รัฐสภาผ่านฉลุย พ.ร.บ. ประชามติ - จับตา ร่างแก้ รธน.เริ่มพรุ่งนี้

โดย pattraporn_a

22 มิ.ย. 2564

24 views

(22 มิ.ย.) ที่ประชุมรัฐสภา มีมติ 611 เสียง เห็นด้วย ร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง หลังจากนี้จะส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


สาระสำคัญเปิดทางให้ประชาชน เข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีออกเสียงประชามติในเรื่องต่างๆได้ รวมอยู่ใน 5 กรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ โดยคณะรัฐมนตรี ต้องกำหนดวันออกเสียงภายใน 120 วัน รวมทั้งให้อำนาจรัฐสภามีมติเสนอเรื่องทำประชามติไปยังคณะรัฐมนตรีได้ด้วย


โดยกำหนดเขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียงประชามติ แบบเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. การผ่านประชามติ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง กลุ่มต่างๆ รณรงค์ออกเสียงประชามติได้อย่างเสรี เพิ่มวิธีการออกเสียงผ่านออนไลน์ได้ และกำหนดบทลงโทษการกระทำผิดกฏหมายไว้ค่อนข้างสูง เช่นเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ต้องจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และซื้อเสียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี และกำหนดโทษไปถึงผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย


ร่างรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับที่จะพิจารณาวันพรุ่งนี้ เริ่มมีความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะร่างของพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับแต่แก้ไข 13 มาตรา แม้จะมั่นใจในเสียงของ ส.ว.ว่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ไปได้ แต่มีเสียงของ ส.ว.7 คน คือนายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นายพลเดช ปิ่นประทีป, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, นายอภิชาติ โตลิลกเวชช์, นายอำพล จินดาวัฒนะ, นายจรินทร์ จักกะพาก และนายคำนูณ สิทธิสมาน ไม่เห็นด้วยการแก้ไข มาตรา 144 ที่ห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการแปรญัตติจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ตัวเอง และมาตรา 185 ห้ามมิให้ ส.ส. ส.ว.และ ครม.เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของราชการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนัยยะสำคัญของรัฐธรรมนูญในการป้องกันการทุจริต


ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ยอมรับว่า ส.ว.มีความเห็นที่หลากหลายในประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว.ในมาตรา 272 ด้วย แต่ส่วนตัวยังยืนยันที่ไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ จึงไม่ยกมือสนับสนุนแน่นอน ส่วนร่างอื่นๆ ทราบว่า ส.ว.ก็พร้อมยกมือสนับสนุนในประเด็นที่เห็นสอดคล้องกัน เช่น ร่างของพรรคพลังประชารัฐ หากรับปากจะให้แก้ไขในมาตรา 144 และ 185 ก็เชื่อว่า ส.ว.พร้อมเห็นด้วยทั้งฉบับ เพราะเห็นด้วยเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งมีร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็เชื่อว่า ส.ว.พร้อมยกมือให้ทั้ง 3 ร่าง ส่วนร่างอื่นมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นด้วย เช่น ร่างคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ร่างการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ และร่างแก้ไขรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ของพรรคภูมิใจไทย จึงน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 7 ร่าง ที่คาดว่า ส.ว.จะเห็นด้วย


แต่ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แม้จะมี 3 พรรคเสนอ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ แต่มีอย่างน้อยสองพรรคที่ไม่เห็นด้วย คือ พรรคก้าวไกลที่เห็นว่า จะเปิดทางให้พลเอกประยุทธ์ ได้สืบทอดอำนาจ เพราะเชื่อว่า ไม่สามาถตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทย เห็นว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้งควรสอบถามประชาชนผ่านการตั้ส.ส.ร.ให้ประชาชนลงมติ ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 ทุกพรรคเห็นตรงกันยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ


แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้พรรคการเมืองและส.ว.รับหลักการในวาระที่ 1 ทุกฉบับ เพื่อแสดงความจริงใจกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เลขาธิการคณะก้าวหน้า เห็นว่า รัฐสภา ควรรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่กลุ่ม Re-solution กำลังรวบรวมชื่อให้ครบ 5 หมื่นชื่อคาดว่าจะได้ครบในวันพรุ่งนี้นั้น มีโอกาสได้นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาด้วย เนื่องจากต้องรอตรวจสอบภายใน 45 วัน


นอกจากนี้ยังต้องจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยไม่ทน ที่นำโดยนายจุตพร พรหมพันธุ์ นัดรวมตัวในวันที่ 24 มิถุนายนเพื่อเรียร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงกลุ่มราษฎร ที่นัดหมายการชุมนุมในวันนั้นด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News