เปิดศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาล VS. ฝ่ายค้าน

เลือกตั้งและการเมือง

เปิดศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาล VS. ฝ่ายค้าน

โดย JitrarutP

19 มิ.ย. 2564

131 views

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา จะมีขึ้นในวันที่ 23-24 มิ.ย. นี้ ถือว่าเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่กำลังจะกลับมาอีกครั้งและครั้งนี้ มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญมาก14 ฉบับ แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 5 ฉบับ และ ฝ่ายรัฐบาล 9 ฉบับ และยังร่างมีฉบับประชาชนที่เสนอโดยกลุ่ม Re-solution อยู่ระหว่างการเข้าชื่อของประชาชน


ทีมข่าวการเมือง ช่อง3 ได้รวบรวมประเด็นทั้ง 14 ฉบับที่พรรคการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังนี้



 -  ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับได้แก่


1. ฉบับแก้ไขเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


2. ฉบับแก้ไขเรื่อง สิทธิและเสรีภาพ เพิ่มสิทธิในการต่อต้านการทำรัฐประหารโดยสันติวิธี /ยุบพรรคได้เฉพาะกรณีล้มล้างการปกครอง/ เพิ่มอำนาจกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆรวมทั้ง ตุลาการและองค์อิสระมาตรวจสอบได้


3. ฉบับแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้งให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ


4. ฉบับแก้ไขเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี เพิ่มให้นายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภา ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี(ปิดสวิตซ์ ส.ว.)


5. ฉบับแก้ไขเรื่องการสืบทอดอำนาจ ยกเลิกมาตรา 279 อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยุทธศาสตร์ชาติ20ปี


 -  ร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ( พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา) 8 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างพรรคประชาธิปัตย์ 6 ฉบับ ได้แก่


1. ฉบับแก้ไขเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้เสียงเห็นชอบ 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข แบ่งสัดส่วน ส.ว. และฝ่ายค้าน เห็นชอบ เหมือนปัจจุบัน


2. ฉบับแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยให้มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน


3.การแก้ไขเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือสามารถเลือกจากส.ส.ในสภาฯ และยกเลิกมาตรา 272 ให้อำนาจส.ว. ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี


4. ฉบับแก้ไขเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยให้ลดขั้นตอนในการร้องเรียนตรวจสอบการใช้อำนาจ ของ ป.ป.ช.


5. ฉบับแก้ไขเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพิ่มสิทธิให้ประชาชนเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย สิทธิที่ดินทำกิน และการคุ้มสิทธิส่วนบุคคล ได้มากขึ้น


6. ฉบับแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชนทั้งหมด ส่วน 2 ฉบับของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่

1. ฉบับแก้ไขเรื่องหน้าที่ของรัฐ กำหนดให้รัฐมีหน้าที่สร้างหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชน ให้ทุกคนต้องมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 36,000 บาทต่อปี

2. ฉบับแก้ไข เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ให้สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ ตามสถานการณ์ของโลก


ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่

1. การแก้ไขเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพิ่มสิทธิในกระยวนการยุติธรรม ให้ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐอย่างเหมาะสม

2. การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบบัตร2ใบ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 กำหนดให้ ส.ส. เขตมี 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

3. แก้ไขมาตรา 144 เกี่ยวกับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ยกเลิกบทลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส. หรือ ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ที่แปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ

4. การแก้ไขอุปสรรคการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว.ให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เข้าข่ายเป็นการแทรกแซง

5. แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ให้การติดตาม เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เป็นอำนาจของรัฐสภา จากเดิม เป็นอำนาจของ ส.ว. ฝ่ายเดียว


สำหรับประเด็นที่น่าจับตาคือการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ของพรรคเพื่อไทย กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้ทำได้เป็นรายมาตรา หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งการเสนอ ตั้ง ส.ส.ร. ของพรรคเพื่อไทย ระบุชัดเจนด้วยว่าต้องการให้ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างใหม่ได้ แต่จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด2 ที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และ สถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย จนถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรคฝ่ายค้าน เพราะพรรคก้าวไกลมีจุดยืนต้องสามารถแก้ไขทุกมาตรา


ขณะที่ข้อเสนอเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทย เสนอตรงกันกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะกลับไปใช้ระบบบัตร 2ใบแบบปี 2540,2550 นั้น ยิ่งตอกย้ำถึงความขัดแย้งของ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย เพราะระบบนี้ส่งผลให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ เหมือนเป็นการร่วมกันสกัดพรรคเล็ก


ส่วนฝ่ายรัฐบาล ประเด็นเห็นได้ชัดคือพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันที่จะไม่แก้ไขเรื่องอำนาจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ว่าจะร่วมร่างกับ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย แต่สุดท้ายก็ไม่ลงชื่อแก้ไขอำนาจของ ส.ว. เพราะห่วงว่าหากไปแตะอำนาจ ส.ว. จะกระทบไม่สามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้ ต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่เสนอปิดสวิตซ์ ส.ว.ตรงกับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ทำให้ร่างของพรรคพลังประชารัฐ ดูจะเป็นที่ต้องใจ ส.ว. ที่ถือเสียง มากถึง 250 เสียง ดังนั้นหาก ส.ว. ผนึกกำลังกับพรรคพลังประชารัฐ 120 เสียง และพรรคชาติไทยอีก 12 เสียง ก็เท่ากับว่าถือเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า ร่างของพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวเต็งในการพิจารณาครั้งนี้


อย่างไรก็ตามประเด็นที่ผู้คนดูจะพูดถึงกันน้อยในร่างฉบับพรรคพลังประชารัฐ คือการแก้ไขบทบัญญัติตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ ตัดเนื้อหาบทลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง และ โทษให้พ้นจากตำแหน่ง กรณี ส.ส. ส.ว. หรือ รัฐมนตรี มีส่วนจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้ตัวเองได้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณ ของ ส.ส.เพื่อลงพื้นที่ของตัวเองอย่างไม่เป็นธรรมอาจกลับมาอีกครั้งได้ แต่ใน มุม ของ ส.ส. ไม่ว่าจะฝ่ายได้ คงจะปล่อยเงียบเพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้ ส.ส.โดยรวมได้ประโยชน์



คอลัมน์ ใต้เตียงการเมือง

by ARMdhiravath



คุณอาจสนใจ

Related News