ถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน นายกฯ ลุกแจงเดือด ไม่โง่กู้มาให้กระทบจีดีพี

เลือกตั้งและการเมือง

ถก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน นายกฯ ลุกแจงเดือด ไม่โง่กู้มาให้กระทบจีดีพี

โดย pattraporn_a

9 มิ.ย. 2564

127 views

(9 มิ.ย.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนดกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 มีการอภิปรายที่เข้มข้นจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะรับหลักการได้ และเรียกร้องให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติแทน ขณะที่รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันเป็นทางเลือกสุดท้ายในกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ด้านนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมในช่วงค่ำ พร้อมชี้แจงอย่างดุเดือดถึงความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้


เวลา 18.30 น.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นถามหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้าฟังการอภิปราย ร่างพระราชกำหนดกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นการเรียกหาครั้งที่ 3 หลังจากในเวลา 17.00 น.พรรคก้าวไกลมีการประกาศตามหานายกรัฐมนตรี ที่ตลอดทั้งวันไม่ได้เข้าฟังการอภิปรายที่สภาผู้แทนราษภร โดยขู่ว่าหากไม่มาภายในเวลา 18.00 น.จะขอนับองค์ประชุม


ซึ่งนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาที่อาคารรัฐสภา ในเวลา 17.25 น.แต่ยังไม่เข้าห้องประชุม นายวิโรจน์ จึงมาถามหาครั้งที่สอง และครั้งที่สาม จนนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาในห้องประชุมเวลา 18.34 น. ฟังนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายถึงการใช้เงินกู้ 1.1 ล้านบาท ที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง


จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงอย่างดุเดือด และน้ำเสียงดุดัน ตลอดเวลา 20 นาที โดยกล่าวว่า รู้สึกสะท้อนใจกับการใช้คำพูดอภิปรายในสภา ของ ส.ส.ที่บางอย่างไม่เควรเกิดขึ้น เช่นการฉีกกระดาษ และยังเป็นข้อมูลเดิมๆ ที่รัฐบาลได้ชี้แจงไปแล้ว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลทำงานอย่างรอบคอบ และไม่โง่ที่จะกู้เงินมาให้กระทบกับจีดีพีของประเทศ พร้อมปราม ส.ส.ว่าในสภา มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ถ้าไปพูดข้างนอกอาจมีปัยหาหากใช้ข้อมูลบิดเบือน ซึ่งส่วนตัวเป็นคนไม่พูดโกหก เพราะได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญานตนแล้ว และการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่ได้กู้เกินกฏหมายที่อัตราที่กฏหมายกำหนด


สำหรับที่มาการออก พ.ร.ก.กู้เงิน นายกรัฐมนตรี ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งการแพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย หดตัวมากที่สุดในรอบ 23 ปี นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540


และรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ล่าสุดมีการอนุมัติใช้จ่ายไปแล้ว 228 โครงการ วงเงิน 9.8 แสนล้านบาท และจะมีการเสนอโครงการอีกเป็นวงเงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินคงเหลือเพียง 1,764 ล้านบาท จึงไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ในระลอกใหม่ได้ การออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน สำหรับ 3 แผนงานสำคัญ ทั้งด้าการแพทย์สาธารณะสุข เช่นการจัดหาวัคซีน 3 หมื่นล้านบาท การชดเชย เยียวยาประชาชน 3 แสนล้านบาท และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านลาท


สำหรับการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เริ่มจาก นายยุทธพงศ์ จรัสเถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นการตีเช็คเปล่า เพราะเงินกู้เดิม ยังไม่ได้นำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์ จึงอยากให้รัฐบาลชี้แจงว่าจะนำเงินกู้ก้อนนี้ไปใช้อย่างไรเพื่อความโปรงใส่ และควรเปลี่ยนเป็น พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกลางปีเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้


นอกจากนี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ย้ำว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ผ่านมา เฉพาะเงินกู้ 1.1 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปน้อยมาก เช่นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทใช้ไปเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ การกู้เพิ่มจึงอาจไม่เกิดประโยชน์ และชัดเจนแล้วว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถในการบริหาร จึงควรลาออก หรือไม่ก็ยุบสภา


ด้าน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นที่หลากหลาย เช่น นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายคาดหวังว่าการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้จะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน ที่นายกรัฐมนตรี อาจไม่ทราบข้อมูลว่า ยังไม่มีการกระจายอย่างทั่วถึง เช่นที่ จ.กระบี่ ได้รับการจัดสรรให้ 1 แสนห้าหมื่นโดส แต่มีการต่อรองเหลือ 5 หมื่นโดส และสุดท้ายมีการส่งให้ฉีดเพียง 1 แสน 5 หมื่นโดส เท่านั้น จึงอยากเห็นรัฐบาลอัดฉีดเงินให้ระบบสาธารณสุขไม่ให้ประชาชนถูกฉีดด้วย วัคซีนทิพย์ ตรงกับนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่อยากให้เกิด วัคซีนการเมือง ที่ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ

คุณอาจสนใจ

Related News