เปิดไทม์ไลน์ ถก พ.ร.บ.งบปี 65 หลังจบวาระแรกวันนี้ ยังมีอีก 2 วาระต่อคิว ถกเข้มรายมาตรา

เลือกตั้งและการเมือง

เปิดไทม์ไลน์ ถก พ.ร.บ.งบปี 65 หลังจบวาระแรกวันนี้ ยังมีอีก 2 วาระต่อคิว ถกเข้มรายมาตรา

โดย thichaphat_d

2 มิ.ย. 2564

64 views

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการพิจารณารับหลักการวาระแรก หลังจากนี้จะเข้มข้นมากขึ้นในการพิจารณาวาระ2 ชั้นกรรมาธิการที่ใช้เวลาพิจารณาภายใน 90 วัน คือระหว่างวันที่ 7 มิ.ย. –12 ส.ค.2564 ที่ ส.ส.จะมีการพิจารณาลงลึกงบรายหน่วยงาน ก่อนเข้าสู่การพิจารณา วาระ 3 ระหว่างวันที่ 13 ส.ค. อีกขั้น ที่ ส.ส.จะได้อภิปรายเข้มข้นมากขึ้นก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ จากนั้นต้องส่งให้ วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค. ก่อนทูลเกล้าฯในเดือน ก.ย.


ไทม์ไลน์ถกงบ 65


- วาระแรก รับหลักการ 31พ.ค.- 2มิ.ย.64

- วาระสอง ชั้นกรรมาธิการ /พิจาณารายมาตรา 7 มิ.ย. – 12 ส.ค.64

- วาระสาม ให้ความเห็นชอบทั้งชอบ 13 ส.ค.64

- วุฒิสภา พิจารณา 23-24 ส.ค.64

- ทูลเกล้าฯ ก.ย.64


สำหรับการอภิปรายวันนี้ ส.ส.เน้นไปที่ปัญหาการพื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยนายสมศักดิ์ คุณเงิน พลังประชารัฐ บอกว่าแม้ร่างงบประมาณ ปี 2565 จะไม่ใช่ร่างที่ดีที่สุด แต่เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญใช้ในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถปรับปรุงในชั้น กรรมาธิการได้ พร้อมเสนอแนะให้ปรับปรุงโครงสร้างงบประมาณ ที่เป็นงบรายจ่ายประจำ ถึงร้อยละ 76 แต่เป็นงบลงทุนเพียงร้อยละ 20.1 เท่านั้น จึงรู้สึกสะท้อนใจที่จัดเก็บภาษีมาเพื่อใช้เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและการบริหารภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ


แม้นายกฯจะรับปากเตรียมแนวทางไว้ แต่มองว่าไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม จึงอยากให้ปรับโครงสร้างงบประจำลดลงให้เหลือร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี เพื่อจะได้นำเงินที่ปรับลดไปลงทุนในด้านอื่นให้มากขึ้น พร้อมขอให้ยกเลิกงบกลุ่มจังหวัด จำนวน 1 หมื่น 7 พันล้านเศษ ลดลงร้อยละ 24 จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของจังหวัด และให้เปลี่ยนเป็นการจ่ายให้กับจังหวัดโดยตรง ให้จังหวัดไปบริหารจัดการเอง จะได้ตรงกับความต้องการและยึดโยงประชาชน


ด้ายนายณัฐวุฒิ ประเสิรฐสุวรรณ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าการบริหารจัดการโควิด 19 รอบ 2 รัฐใช้งบกว่า 4 ล้าน 3 แสน 7 หมื่น 4 พันล้านบาท สามารถจัดการได้จนเป็นที่ยอมรับ แต่รอบที่ 3 คาดว่าจะใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้ อีก 3 ล้านล้านบาท และงบปี 2565 รวมกว่า 3 ล้าน 6 แสนล้านบาท ซึ่งครั้งนี้งบลดลง ขณะที่การระบาดรุนแรง ทำให้หวังพึ่งวัคซีนเพียงอย่างดั้งนั้นต้องมองถึงการจัดหา จัดสรร และคุณภาพวัคซีน จึงขอให้รัฐบาลประกาศให้กระบวนการวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่


ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลง อยากให้รัฐบาลหาช่องทางใหม่ ในการหารายได้ นอกเหนือวิธีการกู้เงินเพียงอย่างเดียว เช่นรายได้แฝงจากใต้ดินทำให้ถูกกฎหมายเพื่อแปรเป็นรายได้ของรัฐ พร้อมเรียกร้องให้จัดสรรงบเพิ่มให้กับกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งปีนี้ปรับลดงบลง 1,010 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 ทั้งที่จัดส่งรายได้ให้รัฐ ปี 2564 จำนวน 824 ล้านบาทและมีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน หากเทียบกับกระทรวงพลังงาน จัดส่งรายได้ลง ปี 2564 ส่งรายได้ลงลดกว่า 1 หมื่น 4 พันกว่าล้านบาท แต่กลับได้รับงบเพิ่มกว่า 500 ล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นงบผูกพัน 3 ปี สำหรับค่าเช่าสำนักงานใหม่ รวมกว่า 174 ล้านบาท


ขณะที่นายภาสกร เงินเจริญกุล พรรคเศรษฐกิจใหม่ เปรียบเทียบการจัดทำงบประมาณประจำปี ย้อนหลัง 3 ปี พบว่าเป็นรายจ่ายประจำร้อยละ 70 เงินลงทุนร้อยละ 20 และชำระคืนเงินกู้ร้อยละ 3 ขณะที่ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวม เบิกจ่ายร้อยละ 92 แต่เบิกจ่ายเฉพาะงบลงทุนเฉลี่ยร้อยละ 58 ไม่เกิน 60 แสดงให้เห็นว่ากำลังมีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุน อาจจะมีปัญหากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบเงื่อนไข จึงต้องปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น


ทั้งนี้หากสามารถฉีดวัคซีนร้อยละ 70 ก็จะเป็นผลดีต่อการส่องออกและการท่องเที่ยว ส่งผลให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โอกาสในวิกฤตโควิดของไทย ไทยมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดด้วยวิธี mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาลงกรณ์ เมื่อนำตัวยามาทดสอบ 30 ไมโครกรัม 10 ไมโครกรัม และ 1 ไมโครกรัม พบว่าใกล้เคียงกัน แต่ตัวยา 10 ไมโครกรัม ผลตอบสนองของแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสโควิดสูงกว่ายี่ห้อโมเดอร์นา ซึ่งได้ทดลองในมนุษย์แล้ว แต่ยังขาดเงินทุนในการวิจัยในเฟสต่อๆไป


จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเพราะจะเป็นอีกช่องทางในการเดินไปข้างหน้า หากประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ก็จะสามารถส่งออกและฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยวัคซีนได้ สร้างความมั่นใจให้ผู้มาท่องเที่ยว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการวิจัย เพื่อเป็นช่องทางให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ได้อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตราการ นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้

คุณอาจสนใจ

Related News