ห่วงคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ใน กทม. - 'อว.' เผย ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา กระตุ้นภูมิได้ดี

สังคม

ห่วงคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ใน กทม. - 'อว.' เผย ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา กระตุ้นภูมิได้ดี

โดย passamon_a

16 พ.ค. 2564

120 views

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า มีการรายงานในที่ประชุม ศบค. ถึงคลัสเตอร์สนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อถึง 105 ราย ใน 6 คลัสเตอร์ใหญ่ ๆ กระจายตัวในหลายส่วน ทั้งบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ฝ่ายช่าง ฝ่ายบริการต่าง ๆ


ส่วนคลัสเตอร์ที่ต้องให้ความสำคัญและน่าเป็นห่วงคือ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่ง กทม. รายงานว่าปลายปี 2563 มีแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. ประมาณ 300 กว่าแคมป์ มีคนงานก่อสร้างประมาณ 60,000 คน เป็นคนไทย 20,000 กว่าคน ต่างชาติ 30,000 กว่าคน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเข้าไปตรวจเชิงรุก เพื่อเอาออกมารักษา หากเป็นชาวต่างชาติทางจังหวัดสมุทรสาครจะรับไป เนื่องจากมีประสบการณ์มีล่ามคอยดูแล


จากนี้จะให้สำนักงานเขตต่าง ๆ รายงานจำนวนแคมป์ ให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. และปริมณฑล รับทราบข้อมูล และแจ้งไปยังผู้ประกอบการต่าง ๆ เข้มงวดการดูแลแคมป์คนงาน ทั้งโครงสร้างและพฤติกรรมส่วนตัว รับต้องเข้าไปแนะนำมาตรการป้องกันโควิดในแคมป์คนงาน มาตรการตรงนี้ต้องขึงให้ตึง ปฏิบัติอย่างเข้มงวดเต็มที่ 60,000 กว่าคน ต้องได้รับการดูแลอย่างดี


ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจเชิงรุกแบบ 100% พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1,219 ราย ใน 3 เรือนจำ ได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม 510 ราย, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 88 ราย และเรือนจำพิเศษธนบุรี 621 ราย โดยเป็นข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค.


ทั้งนี้ เป็นผู้ต้องขังกลุ่มสีแดง ที่มีการส่งตัวรักษาโรงพยาบาลภายนอก จำนวน 6 ราย ที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย


ด้าน ศ.ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด-19 คือ แอสตราเซเนกา และ ซิโนแวค ที่ฉีดในคนไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า


ทั้งวัคซีนของซิโนแวค และแอสตราเซเนกา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค สองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้


คุณอาจสนใจ

Related News