กรมสมเด็จพระเทพฯ ติดตามงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จ.ฉะเชิงเทรา

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ติดตามงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จ.ฉะเชิงเทรา

โดย pichaya_s

14 พ.ค. 2564

32 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริของโรงเรียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบออนไลน์


วันนี้ เวลา 08.55 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนายาว ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นครั้งที่ 7 และเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครั้งที่ 1 พัน 11 


ปัจจุบันจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวม 450 คน ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน และขยายผลสู่ชุมชน ตามพระราชดำริ อาทิ การใช้บัตรคำลูกสะกด ในวิชาภาษาไทย เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการอ่าน


ส่วนด้านสุขอนามัยและภาวะโภชนาการ มีการจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร ตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การปลูกพืชผักชนิดต่างๆ รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสามารถนำมาประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน และจำหน่ายผ่านสหกรณ์โรงเรียน นอกจากนี้ยังขยายผลสู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมความรู้แก่ผู้ปกครองและคนในชุมชน ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลการดำเนินงาน โครงการ "แม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี" ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับหมู่บ้านนายาว เป็นหมู่บ้านในโครงการเสริมอาชีพประชาชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ปัจจุบันมี 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตร, กลุ่มตัดเย็บ, แม่บ้านนายาวผ้าขาวม้า, แม่บ้านนายาวจักสาน และ แม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเหียง ซึ่งผลิตภัณฑ์จะส่งไปจำหน่ายที่ร้านภูฟ้า ส่งผลให้ราษฎรหมู่บ้านนายาว มีอาชีพ และรายได้ ที่มั่นคง


และในการติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในครั้งนี้ ทรงมีพระราชดำริ ให้เชิญชวนชาวบ้าน เข้าเป็นสมาชิกตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม เนื่องจากช่วงนี้ประชาชนอยู่สภาวะที่ยากลำบาก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมพระราชทานคำแนะนำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ ทันสมัย และสวยงาม เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนเพิ่มช่องทางขายทางออนไลน์


นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริ ให้กรมปศุสัตว์ จัดหาพันธุ์ไก่ไข่มาเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค ของเด็กนักเรียน และให้มีการอบรม เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งพระราชทานคำแนะนำ ให้เด็กนักเรียน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาทิ ผักใบเขียว และไข่ เป็นต้น


จากนั้น ทรงติดตามผลการดำเนินงาน ของโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว ในรูปแบบออนไลน์ โดยเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งแรก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น หลังจากทรงทราบว่านักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาต่อ เนื่องจากไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดตั้งโรงเรียน พร้อมพระราชทานชื่อโรงเรียน และพระราชทานเงินค่าอาหารกลางวัน แก่นักเรียนมาตลอดจนถึงปัจจุบัน


โดยทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 และเป็นการทรงงานติดตามการดำเนินงาน ของโรงเรียนในความดูแล ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ครั้งที่ 1 พัน 12


ปัจจุบันเปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียน 614 คน มีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ กำลังศึกษา จำนวน 5 คน ในการนี้ มีพระราชดำรัสกับนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ให้มีความตั้งใจ พยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ ยิ่งฝึกฝนมาก จะยิ่งสร้างความก้าวหน้าแก่ชุมชน และประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้


สำหรับการดำเนินงานสนองพระราชดำริ โรงเรียนได้รับการสนับสนุน จากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, สถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, โรงเรียนบางกอกพัฒนา และมูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนา ช่วยปรับปรุงห้องวิทยาศาสตร์ และจัดซื้อคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และขยายโอกาส ในการการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาคอมพิวเตอร์


นอกจากนี้ได้ จัดการเรียนการสอนทวิศึกษา กับวิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) และภาคเอกชน โดยจัดทำหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ด้านช่างยนต์ และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้


ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีผลผลิตทางการเกษตรประเภทเนื้อสัตว์ เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนผัก ผลไม้ และถั่วเมล็ดแห้ง ยังไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงวางแผนขยายพื้นที่เพาะปลูก ที่ผ่านมาได้นำเงินพระราชทานจัดซื้อวัตถุดิบ มาประกอบเลี้ยง อาหารกลางวันให้แก่นักเรียน


นอกจากนี้ยังขยายการพัฒนาสู่ชุมชน ทั้งยังพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการความรู้ ด้านเศรษฐกิจพอเพียง, ด้านสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านสหกรณ์และการบัญชี ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมถึงคณะจากต่างประเทศ เข้าศึกษาดูงานที่โรงเรียน


ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาทเกี่ยวกับการปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ในอนาคต



Related News