ปูพรมฉีดวัคซีน วอล์กอินได้เลย ไม่ต้องจอง จังหวัดไหนพร้อมก่อน เริ่มได้เลย

สังคม

ปูพรมฉีดวัคซีน วอล์กอินได้เลย ไม่ต้องจอง จังหวัดไหนพร้อมก่อน เริ่มได้เลย

โดย thichaphat_d

13 พ.ค. 2564

1.5K views

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าว มติที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ วานนี้ (12 พ.ค.) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 3 ประเด็นหลัก คือ


1.การหารือเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากแผนเดิมที่จะจัดหา 100 ล้านโดส เพิ่มเป็น150 ล้านโดส ส่วนวัคซีนที่ภาคเอกชนกำลังจัดหาเป็นทางเลือก ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมเร่งประสานวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากอย.แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถนำเข้าได้

2.เร่งทำงานเชิงรุก เจรจาจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆเพิ่มเติม

3.ปรับแผนการฉีดวัคซีน เปิดปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน โดยเริ่มต้นทันทีในเดือนมิถุนายนนี้ ผ่าน 3 ช่องทาง คือ

1.กลุ่มที่มีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหรือ LINE แอดหมอพร้อม

2.การจัดขอเข้ารับรถชีนเป็นกลุ่มหมู่คณะเช่นในโรงงานหรือสถานประกอบการขนาดใหญ่

และ 3.เปิดให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับวัคซีนได้โดยไม่ต้องนัดหมาย


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในรูปแบบวอล์กอิน (Walk in) ว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อย ต้องการฉีดวัคซีนแต่จองคิวผ่านระบบไม่ได้ จึงมีแนวคิดให้ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนเข้ามาใช้บริการได้เลย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งจะประสานแนวทางปฏิบัติต่อไป หลักการคือ


1.กรมควบคุมโรค จะระบุยอดเป้าหมายของการฉีดแต่ละจังหวัดให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 70% ซึ่งจะฉีดแตกต่างกันตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด เช่น ขณะนี้มีการระบาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เราจะกระจายวัคซีนไปให้มากที่สุดเพื่อควบคุมการระบาด ส่วนจังหวัดอื่นก็จะกระจายไปให้ครอบคลุม 70% ของประชากรตามลำดับ ซึ่งหากจังหวัดไหนมีความพร้อมก็สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย


“การฉีดวัคซีนปูพรมจะฉีดในผู้ที่มีความสมัครใจให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดให้มากที่สุด เบื้องต้นขอให้รับวัคซีนตามข้อบ่งชี้ และยืนยันว่าวัคซีนที่เรานำมาฉีดนั้นมีความปลอดภัย ขอให้ประชาชนเข้าร่วมรับวัคซีนให้มากที่สุด” นพ.โอภาส กล่าว


2.นโยบายวอล์กอิน จะสอดคล้องกับนโยบายปูพรม เราต้องขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนมีหลายช่องทาง อาทิ


1.สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น จะทราบวันและเวลาที่ชัดเจน ไม่ต้องนั่งรอ เป็นช่องทางที่มีความสะดวกมากที่สุด

2.สถานพยาบาลที่มีรายชื่อผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ก็จะนัดวันเวลาเข้ามาฉีด

3.สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติการรักษาโรค แต่มีความจำเป็นและต้องการฉีดวัคซีน อย่างเช่น คนขับรถสาธารณะ คนขับรถแท็กซี่ ในกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการวอล์กอินฉีด ที่ทางจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจุดบริการฉีด ดำเนินการในรายละเอียด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เช่น จุดฉีด จำนวนต่อวัน


“รายละเอียดต่างๆ ให้ประชาชนติดตามประกาศในแต่ละจังหวัด แต่สัดส่วนบริหารวัคซีน เบื้องต้นที่คุยกัน เรายกตัวอย่างสูตร 30-50-20 คือ ลงทะเบียนผ่านระบบ 30% สถานพยาบาลกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 50% และจุดวอล์กอิน 20% เป็นต้น ซึ่งสูตรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ กำกับดูแล” นพ.โอภาส กล่าว


อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน เหมาะกับสถานที่เปิดโล่ง เช่นที่เราพิจารณาจะเปิดสถานีกลางบางซื่อ จุฬาลงกรณ์ ที่จะเปิดในอาคารจามจุรีสแควร์ รวมถึงในวันนี้ที่ท่านนายกฯ จะไปเปิดที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว วันนี้ (13 พ.ค.) เปิดที่อาคารจามจุรีสแควร์ และวันที่ 14 พ.ค. เปิดที่เดอะมอลล์บางกะปิ


นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อสำคัญที่สุดของการฉีดวัคซีนคือ การบันทึกข้อมูล ผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดจากหน่วยบริการแบบไหน แต่ทุกคนต้องมีรายชื่อเข้าในระบบติดตาม นอกจากนี้ ได้ประสานกับกรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล เพื่อเชิญกลุ่มเด็กพิเศษ ผู้พิการออทิสติก พร้อมครอบครัวเข้ารับการฉีดวัคซีน ตามรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบ ซึ่งอนาคตจะมีการบริการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ติดเตียงในรูปแบบของเดลิเวอรี่


“สำหรับองค์กรหรือโรงงานขนาดใหญ่เราจะใช้ระบบ ฉีดวัคซีนแบบกลุ่ม(Group vaccination) เช่น โรงงานมีคน 1 พันคน มีความประสงค์ฉีดวัคซีนเราก็จะอำนวยความสะดวกให้ แต่หากสามารถประสานกับทางโรงพยาบาลเอกชน เพื่อฉีดได้ก็จะเป็นเรื่องที่ยินดี”


ส่วนกลุ่มอื่นเช่นกลุ่มเปราะบางกลุ่มคนด้อยโอกาส ทุกคนต้องได้รับวัคซีน แน่นอน แต่อยู่ในระหว่างจัดทำแผนรองรับเพื่อความมั่นใจในการเข้ารับวัคซีน ที่ปลอดภัย ชาวต่างที่อยู่ในประเทศไทย จะประสานผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศในการแจ้งเข้ารับวัคซีน


ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าว จะจัดฉีดวัคซีนในกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการระบาดเช่น ในโรงงานขนาดใหญ่ ตลาดใหญ่ เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่นั้น


สำหรับแผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้มีซิโนแวค กับแอสตราเซเนกา โดยซิโนแวคเข้าไทยแล้ว 3.5 ล้านโดส และอยู่ระหว่างจัดส่งในวันศุกร์นี้ 5 แสนโดส และสิ้นเดือนนี้อีก 2 ล้านโดส ขณะที่แอสตราเซเนกา ส่งมาแล้ว กว่า 1 แสนโดส เมื่อเดือนมีนาคม และจะถึงไทยอีก 23 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/SSaHnKl5M_I


คุณอาจสนใจ

Related News