โปรดรับฟังเสียงสาธารณชน! อ.ปริญญา ขอ ‘ศาล รธน.’ อธิบายเหตุผลคดี ‘ธรรมนัส’ให้คนสิ้นสงสัย

เลือกตั้งและการเมือง

โปรดรับฟังเสียงสาธารณชน! อ.ปริญญา ขอ ‘ศาล รธน.’ อธิบายเหตุผลคดี ‘ธรรมนัส’ให้คนสิ้นสงสัย

โดย JitrarutP

11 พ.ค. 2564

427 views

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่าคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ที่เคยต้องโทษคดียาเสพติด เมื่อปี 2537 ในประเทศออสเตรเลีย ยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อไปได้เพราะไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย นั้น ประเด็นนี้อาจสวนทางกับความร็สึกขิงใครหลายคน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย กำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาในคดียาเสพติดสามารถตำแหน่งทางการเมืองได้




คำวินิจฉัยไม่สอดคล้องกฎหมายอาญา


ในมุมมองทางกฎหมาย “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองประเด็นที่ศาลชี้ว่าการต้องคำพิพากษาซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่รวมถึงการต้องคำพากษาของศาลต่างประเทศ ถือเป็นประเด็นที่ยังมีเหตุผลไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายอาญาของไทย ที่มีหลักการเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดในต่างประเทศอยู่แล้ว


เห็นได้จากการกำหนดว่าหากคนไทยทำผิดในต่างประเทศและถูกศาลต่างประเทศพิพากษาลงโทษในต่างประเทศแล้วเมื่อพ้นโทษจะไม่ต้องมารับผิดในประเทศไทยอีก ในทางกลับกัน หากทำผิดแต่ยังไม่ได้รับการลงโทษในต่างประเทศก็อาจถูกลงโทษในประเทศไทยได้


ปัญหาอยู่ที่เหตุและผล


ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่าจากคำวินิจฉัย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ แต่ปัญหาอยู่ที่เหตุผลที่ศาลให้มานั้นยังไม่สิ้นสงสัย ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นแม้แต่คนในวงการกฎหมายเองยังรู้สึกคาใจ


โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลบอกว่าไม่สามารถเอาคำพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ได้เพราะความผิดในประเทศอื่นอาจไม่เป็นผิดในประเทศไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริงความผิดฐานยาเสพติดนั้นมีความผิดกับทั้งสองประเทศ ประกอบกับ ในมาตรา 5 ของพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 2534 ยังกำหนดชัดว่า “ผู้ใดกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแม้จะกระทําในต่างประเทศผู้นั้นจะต้องรับโทษในไทยด้วย” ดังนั้นเหตุผลที่ศาลระบุมาจึงยังฟังไม่ขึ้น


ศาลสามารถตรวจสอบข้อมูลศาลออสซี่ได้


ส่วนประเด็นที่ศาลชี้ว่าหากนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้แล้วจะไม่สามารถตรวจสอบหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลได้ ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าจริงๆแล้วศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบขอข้อมูลไปยังศาลออสเตรเลียได้โดยตรงแต่เข้าใจว่าศาลคงไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของศาลทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีอำนาจมากและคดีนี้เป็นคดีสาธารณชน กลับให้เป็นเรื่องของผู้ร้องและกระทรวงการต่างประเทศราวกับเป็นคดีแพ่ง




ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าปัญหาสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนมองว่าสิ่งที่ตัดสินมายุติธรรมแล้ว เพราะมีหลักวิชากฎหมายที่สอนกันทั่วโลก ว่า “ความยุติธรรมนั้นไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้คนเขาเห็นด้วยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันคือความยุติธรรม” และที่ผ่านมาไม่เคยมีความเห็นต่างของประชาชนที่มีต่อศาลได้มากเท่านี้มาก่อน เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญหากศาลคิดว่ายุติธรรมแล้ว แต่ถ้าคนไม่เชื่อว่ายุติธรรมคนก็จะไม่เชื่อถือศาล ทำให้กระทบต่อหลักการการอยู่ร่วมกันในสังคมได้


ดังนั้นศาลอย่าคิดว่ายุติธรรมอย่างเดียวแต่ต้องดูสังคมด้วยแม้กระแสสังคมอาจจะผิดแต่ก็ไม่ควรปฏิเสธการรับฟังสาธารณะทั้งหมด เพราะอำนาจรัฐทุกอำนาจต้องรับผิดชอบต่อสาธารณชนและสังคม


ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ขอก้าวล่วงดุลยพินิจที่ศาลใช้ในการวินิจฉัย แต่สิ่งที่กำลังท้วงติงเป็นเรื่องของเหตุผลที่ศาลให้มา และคาดหวังว่าศาลจะให้รายละเอียดในคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังสะท้อนในมุมบวกที่ทำให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนแสดงออกในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยได้อย่างชัดเจนและเชื่อว่าศาลเองก็ควรรับฟัง เพราะศาลไม่ได้หลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของสาธารณะ


(คอลัมน์ “ใต้เตียงการเมือง” by ARMdhiravath)



คุณอาจสนใจ

Related News