11 พฤษภาคม ครบรอบพิธีเปิดหอประชุมคุรุสภา

ประชาสัมพันธ์

11 พฤษภาคม ครบรอบพิธีเปิดหอประชุมคุรุสภา

โดย thichaphat_d

11 พ.ค. 2564

383 views

คุรุสภา มีหอประชุมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ชื่อว่า "หอประชุมคุรุสภา"


หอประชุมคุรุสภา เป็นอาคารรูปทรงโบราณงามสง่า เป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงให้เห็นถึงเกียรติภูมิของสถาบันวิชาชีพครู ที่สำคัญหอประชุมแห่งนี้ยังนำความภาคภูมิใจมาสู่บรรดาครูทั่วประเทศ เนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่งของการก่อสร้างมาจากสมาชิกคุรุสภาซี่งก็คือครูจากทั่วประเทศ ได้บริจาคเงินเดือนคนละ ๑ วัน สมทบกับเงินจากองค์การค้าของคุรุสภาขณะนั้น และเงินสมทบจากรัฐบาล




การสร้างหอประชุมคุรุสภา เริ่มต้นเมื่อครั้งการประชุมสามัญประจำปีของคุรุสภา ประจำปี ๒๔๙๕ มีการพิจารณาเรื่องการสร้างตึกสามัคยาจารย์ใหม่ (คุรุสภา ก่อกำเนิดมาจากสามัคยาจารย์สมาคม ขณะนั้นตั้งอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปากคลองตลาด) เนื่องจากตึกสามัคยาจารย์เดิมมีอายุถึงห้าสิบปีเศษ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก ประกอบกับกิจการของคุรุสภาได้ทวีมากขึ้น สมควรที่จะได้ขยายสถานที่ออกไป ที่ประชุมจึงมีมติรับหลักการที่จะดำเนินการสร้างตึกสามัคยาจารย์ขึ้นใหม่ โดยคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้ลงมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาดำเนินการจัดหาเงินสร้างตึก ตลอดจนพิจารณาแบบแปลน แผนผัง และการดำเนินการก่อสร้าง


ต่อมา ในปี ๒๔๙๗ คณะกรรมการอำนวยคุรุสภาลงมติให้จัดสร้างตึกคุรุสภาใหม่ โดยใช้งบประมาณจากองค์การค้าของคุรุสภาขณะนั้น เป็นงบประมาณตั้งต้น และออกแจ้งความขอความร่วมมือจากสมาชิกคุรุสภาและผู้มีจิตกุศลบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างตึกคุรุสภาใหม่ -ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เห็นว่าคุรุสภาควรมีหอประชุมที่สามารถจุสมาชิกได้ ๑,๐๐๐ คนขึ้นไป


สำหรับสถานที่ก่อสร้าง ในครั้งแรกนั้นจะใช้สถานที่เดิม คือ บริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบ แต่กระทรวงศึกษาธิการเห็นควรให้สร้างที่ ถนนประชาธิปไตย(ถนนนครราชสีมาในปัจจุบัน) ริมคลองผดุงกรุงเกษม จังหวัดพระนคร(บริเวณพื้นที่ด้านหลังกระทรวงศึกษาธิการ) ขณะนั้นมีโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร และโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมอยู่ด้วย เป็นการสะดวกในการทำงาน


๙ พฤษภาคม ๒๕๐๐ คุรุสภาจึงจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยมี พลอากาศโท มุนี มหาสันทะ เวชยันตรังสกษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาขณะนั้น เป็นประธานในพิธี มี ขุนคงฤทธิศึกษากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น มล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ร่วมในพิธี


เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๐ จนแล้วเสร็จ


วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๒ จึงมีพิธีเปิดหอประชุมคุรุสภาอย่างเป็นทางการ โดย ฯพณฯ พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นประธานในพิธี และ มล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาขณะนั้น กล่าวต้อนรับ


ในพิธีดังกล่าว คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา จัดให้มีนิทรรศการกิจกรรมการศึกษา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองด้วยระหว่างวันที่ ๑๑-๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ณ บริเวณหอประชุมคุรุสภา


ปัจจุบัน หอประชุมคุรุสภา ยังคงให้บริการแก่ครูอย่างคงมั่น และทุก ๆ วันที่ ๑๖ มกราคม ยังคงเป็นสถานที่จัดงานวันครูเป็นประจำทุกปี รวมทั้งได้จัดทำหอสมุดวิชาชีพทางการศึกษา และพิพิธภัณฑ์และหอเกียรติยศวิชาชีพทางการศึกษา ขึ้น ที่ชั้น ๒ ของหอประชุมคุรุสภา เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์วิชาชีพ และสารสนเทศทางวิชาชีพ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพทางการศึกษาตามภารกิจของคุรุสภาอีกด้วย


ดาวน์โหลดประวัติศาสตร์หอประชุมคุรุสภาจากหนังสือ 50 ปีคุรุสภา ได้ที่ลิงก์นี้ https://bit.ly/3f2iH2C

ชมนิทรรศการออนไลน์เนื่องในพิธีเปิดหอประชุมคุรุสภา https://bit.ly/3f7jG1t

แท็กที่เกี่ยวข้อง  คุรุสภา ,กระทรวงศึกษาธิการ

คุณอาจสนใจ

Related News