จับตา 4 คลัสเตอร์สำคัญใน กทม. เฝ้าระวัง-คัดกรองเชิงรุกเข้มกว่าเดิม

สังคม

จับตา 4 คลัสเตอร์สำคัญใน กทม. เฝ้าระวัง-คัดกรองเชิงรุกเข้มกว่าเดิม

โดย weerawit_c

9 พ.ค. 2564

1.9K views

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 8 พ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,419 ราย แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,409 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้ยอดสะสม 81,274 ราย รักษาหาย ราย 2,247 รวมเป็น 51,419 ราย ยังรักษาตัว 29,99 ราย อาการหนัก 1,138 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 380 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 คน รวมตั้งแต่ระลอกใหม่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 288 คน ทั้งนี้รายงานตัวเลขทั้งประเทศ 2,409 ราย อยู่ใน กทม.และปริมณฑล 1,641 ราย ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งหมด


สำหรับผู้เสียชีวิตอายุตั้งแต่ 42-93 ปี เป็นกทม.7 ราย / สมุทรปราการ - ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย และ นครสวรรค์ -สมุทรสาคร - กาญจนบุรี - ชลบุรี - นครศรีธรรมราช - สงขลา - นครปฐม สุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัว ทั้ง ความดันโลหิตสูง / เบาหวาน / โรคหัวใจ / ไขมันในเลือดสูง / โรคอ้วน / โรคปอดเรื้อรัง / ภูมิแพ้ / ไตเรื้อรัง และมะเร็ง


ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ สูงสุดยังคงเป็นกทม. 1,112 ราย ตามด้วยนนทบุรี 217 ราย , สมุทรปราการ 114 ราย ,ประจวบคีรีขันธ์ 100 ราย และ ปทุมธานี 93 ราย


ทั้งนี้ในการประชุมศบค.ชุดเล็ก ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด 8 พ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อรวมกัน 1,641 ราย จุดที่น่าห่วง คือ กทม. โดย 4 คลัสเตอร์ล่าสุดที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง คือ 1.ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้องปราบศัตรูพ่าย / 2. ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต / 3.ปากคลองตลาด เขตพระนคร และ 4.ศูนย์การค้าเขตพระนคร เขตพระนคร


ขณะที่ตัวเลขสะสมการพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 10 เขตในกทม ของวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา อันดับ 1 ยังเป็นคลองเตย 37 ราย / ราชเทวี 26 ราย / ปทุมวัน 24 ราย / บางกะปิ 13 ราย / จตุจักร 11 ราย / ดอนเมือง-ลาดพร้าว เขตละ 9 ราย / ดุสิต 8 ราย / ยานนาวา-วังทองหลาง เขตละ 7 ราย


ทั้งนี้ที่ประชุม เน้นย้ำว่า ด้านหนึ่งมาตรการสำคัญ ยังต้องตรวจเชื้อเชิงรุกในชุมชนรายวันอย่างเข้มข้น และได้รับทราบปัญหาของชุมชนแออัดในบางเขต ที่กลุ่มเสี่ยงต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันอาจเกิดการแพร่ระบาด ดังนั้นจึงกำชับเรื่องการจัดตั้งศูนย์พักคอรอการส่งต่อ ส่วนหนึ่งใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนและวัด เพื่อคัดแยกกลุ่มเหล่านี้ออกจากบ้าน ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา


และอีกส่วน คือ การบริหารเตียงผู้ป่วย เบื้องต้นกทม. ได้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยสะสมคัดแยกตามระดับความรุนแรง 14,351 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสีเขียวอ่อน 6,459 ราย - เขียวเข้ม 5,372 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย และ สีเหลือง หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการ 1,950 ราย และ สีแดง หมายถึงผู้ป่วยอาการหนัก 570 ราย ซึ่งเห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง สำหรับการครองเตียงของผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง


โดยจากข้อมูลของกทม. เฉพาะวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา 739 ราย 3.4% เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบอาการหนัก จำนวนนี้ 1.6% ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นั่นหมายความว่าผู้ป่วย 100 คน 4 คนจะมีอาการหนัก และ 1-2 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะฉะนั้นตัวเลข 739 ราย คำนวณคร่าวๆในวันดังกล่าวว่า กทม.และปริมณฑล จะต้องยังใช้เตียง ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง อยู่ที่ 25 เตียงต่อวัน นี่จึงทำให้เราต้องเปิด รพ.บุศราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ซึ่งจะมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองไก้ในสัปดาห์นี้ เพื่อบริหารจัดการเตียงในรพ.รองรับกลุ่มอาการหนักที่ต้องใช้เตียงในทันที


ผู้ช่วยโฆษกศบค. ยังได้สรุปข้อเสนอของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ศบค. หลักๆ มี 3 ข้อสำคัญ 1.ให้ทุกหน่วยงานในกทม.ทั้งภาครัฐ-เอกชน บูรณการข้อมูล 2.เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก จากเดิมแผนกทม.ตั้งเป้า 26,850 คนให้แล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ ขอให้ระดมสรรพกำลังดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน และ 3.ขอให้วางแผนเตรียมเตียงผู้ป่วยล่วงหน้า ในกทม.และปริมณฑล คิดจาก 5% ของยอดผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มสีแดง


ส่วนกรณีที่การตั้งข้อสังเกตผู้ติดเชื้อรายวัน ว่ามีการปิดปิดข้อมูล หรือ เป็นเพราะมีการตรวจน้อยเพื่อไม่ให้เจอผู้ติดเชื้อสูงหรือไม่ ผู้ช่วยโฆษกศบค. ระบุว่า เป็นธรรมที่มีการตั้งคำถาม แต่จากรายงานจากกรมควบคุมโรค สำหรับพื้นที่กทม.และปริมณฑล เฉพาะเดือนเม.ย.ถึงปัจจุบันนั้น มีการตรวจเชื้อสะสมไปแล้ว 2 แสนกว่าราย เฉลี่ยตกวันละหมื่นกว่าราย “ถามว่าน้อยไหมคงไม่น้อย แต่พอ อาจจะไม่พอ” แต่ยืนยันว่าตามแผน ทั้งกทม.และปริมณฑล มีความพยายาม จะเร่งตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น และเร็วที่สุด


พร้อมกันนี้ยังพูดถึงภาพรวมศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ขณะนี้ยังรักษาตัวกว่า 2 หมื่น 9 พันราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 8 พันกว่าราย และอยู่โรงพยาบาล 2 หมื่นราย จำนวนนี้อาการหนักประมาน 1 พันราย “ยืนยันหากตัวเลขอยู่ในระดับนี้ ระบบสาธารณสุข ทั้งเตียง อุปกรณ์ บุคลากร ยังสามารถรองรับได้ แต่หากมากไปกว่านี้ เราเป็นห่วงระบบที่มีอยู่ จะเริ่มตึงเครียดมากขึ้น ทำให้เกิดการรอคอยเตียง เหมือนที่เห็นในภาพข่าวต่างประเทศ” ดังนั้นจึงขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลในพื้นที่ หากสัมผัสกลุ่มเสี่ยงสูงต้องกักตัวเอง ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน เพราะถ้าลดยอดผู้ติดเชื้อใหม่ ระบบสาธารณสุขก็จะสามารถรองรับดูแลประชาชนได้ดียิ่งขึ้น


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/06oVIMop6S8

คุณอาจสนใจ

Related News