เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ขอรัฐไทยชะลอส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบ

สังคม

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ขอรัฐไทยชะลอส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบ

โดย pattraporn_a

8 พ.ค. 2564

49 views

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน มีแถลงการณ์ด่วน ขอรัฐไทยชะลอการส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบชาวกะเหรี่ยง หลังยังไม่เชื่อมั่นสถานการณ์ และทหารไทยมีการเจราจาให้ผู้อพยพเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ค.) 


จากเสียงสะท้อนของผู้อพยพ ที่มีความกังวลกรณีเจ้าหน้าที่ทหารไทย ไปแจ้งให้เดินทางกลับรัฐกะเหรี่ยงภายในวันพรุ่งนี้ โดยระบุว่า การที่ชาวบ้านยังอยู่ทำให้ดูเหมือนยังมีการสู้รบ ที่จะกระทบกับการค้าเศรษฐกิจของไทย แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจในสถานการณ์สู้รบที่ยังมีต่อเนื่อง การอพยพแต่ละครั้ง ยังมีเด็ก คนป่วย และคนพิการ ที่ทำให้ยากลำบากมาก


เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน จึงมีแถลงการณ์ด่วน ขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันผู้หนีภัยการสู้รบ ที่ยังไม่มีความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม กองทัพเมียนมา ส่งเครื่องบินรบมาโจมตี ทิ้งระเบิดในกองพล 5 KNU อย่างน้อย 27 ครั้ง ใช้ปืน ค.ยิงโจมตีหมู่บ้านประชาชน 575 ครั้ง ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 14 รายได้รับบาดเจ็บ 28 ราย บ้านเรือนเสียหาย 20 หลัง โรงเรียนเสียหาย 2 โรงเรียน


ในขณะที่ผู้อพยพมาฝั่งไทย กว่า 2,000 คน ยังมีการโจมตีทางอากาศเมื่อบ่ายวานนี้ ห่างจากริมน้ำสาละวินเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร และมีเด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ที่มีความเสี่ยงกับโรคภัยต่างๆเช่นมาลาเรีย จึงขอให้รัฐบาลไทยชะลอการส่งกลับ ให้ผู้หนีภัยได้พักในพื้นที่ปลอดกภัยชั่วคราว เปิดทางการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และหากเป็นไปได้ขอให้ประสานแจ้งเตือนไปยังกองทัพเมียนมายุติการโจมตีทางอากาศพื้นที่ชายแดนที่กระทบกับประชาชนไทยด้วย


การผลักดันส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบไปโดยไม่สมัครใจ หรือส่งไปยังประเทศต้นทางที่อาจถูกประหัตประหาร ยังเป็นการละเมิดกฏหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองและบทบัญญัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย ไทยจึงควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ


นักวิชาการด้านความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์ ประเมินสถานการณ์การสู้รบภายในเมียนมา แม้ในส่วนกองกำลัง KNU จะเป็นพื้นที่เฉพาะชายแดน แต่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ ที่กลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมต่อต้านการรัฐประหารด้วย ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร หากต้องเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพใหม่ ให้ชายแดนสงบอาจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงเป็นสิ่งที่ไทยต้องรับมือด้านความมั่นคงชายแดนรูปแบบใหม่ด้วย


นักวิชาการยังเสนอให้ไทยและเมียนมา ร่วมกำหนดพื้นที่กาชาดสากล หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เพื่อให้เป็นพื้นที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาชนทั้งสองประเทศได้ แต่ในระยะสั้นภาคประชาชนยังคาดหวังจะเห็นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนจากรัฐบาลด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News