นายกฯ ย้ำปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรก ให้ ปชช.มากที่สุด - กทม.ขยายระยะเวลาปิดสถานที่ ถึงวันที่ 17 พ.ค.นี้

สังคม

นายกฯ ย้ำปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรก ให้ ปชช.มากที่สุด - กทม.ขยายระยะเวลาปิดสถานที่ ถึงวันที่ 17 พ.ค.นี้

โดย weerawit_c

8 พ.ค. 2564

335 views

แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 7 พ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,044 ราย แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,040 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 คน ทำให้ยอดสะสม 78,855 ราย รักษาหาย 2,377 ราย รวมเป็น 49,172 ราย ยังรักษาตัว 29,320 ราย


ด้าน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังเป็นกราฟพุ่งทะแยงขึ้น มียอดผู้ติดเชื้อสะสม วันที่ 1 เม.ย.- 7 พ.ค.64 รวมกันมากถึง 25,995 ราย โดยจุดที่น่าห่วง คือ กทม.พบผู้ติดเชื้อเกิน 500 ราย/วันต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา


ซึ่งผู้อำนวยการเขตบางแค ได้รายงานสถานการณ์ สรุปกรณีการติดเชื้อของบางแค ปัจจุบันมีคลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างการควบคุมโรค 191 ราย ซึ่งมีทั้งชุมชนบ้านขิง - ห้างสรรพสินค้า และ ซอยเพชรเกษม 84 เบื้องต้นจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน จะมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 คน ที่ต้องนำมาตรวจหาเชื้อ และกักตัวอยู่ที่บ้าน และอีกส่วนยังมีแผนตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายกว้างขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโดยเร็ว


ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ผ่าน PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า โดยยอมรับว่า ไทยกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกที่ 3 ถือว่าเลวร้ายที่สุด ดังนั้น ที่ผ่านมาตนเองจึงได้ มอบนโยบายพร้อมสั่งการ ทำงานอย่างบูรณาการไปแล้ว โดยขอย้ำว่าการตัดสินในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต้องรวดเร็ว และการทำงานต้องเป็นไปอย่างบูรณาการ


พร้อมยืนยันขณะนี้ไทยมียาพาวิฟิราเวียร์ ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเพียงพอ แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยมีสต๊อกยาไว้ ที่ 1 ล้าน 5 แสนเม็ด ปัจจุบันกระจายยาไปยังทั่วประเทศ และในเดือนนี้จะได้รับยาอีก 3 ล้านเม็ด ดังนั้นขอทุกคนอย่ากังวลในเรื่องนี้ ส่วนยาอื่นๆ ก็ให้พิจารณาในการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า จากการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่น่าจะแก้ไขได้โดยเร็ว ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคตไว้ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งตนเองได้สั่งการเตรียมแผนหลัก และแผนสำรอง จะต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยไทยต้องจัดหาวัคซีนให้ได้มากกว่านี้ 150 ล้านโดส หรือมากกว่านั้น เพื่อเตรียมการรับความเสี่ยง ในปีหน้าด้วย รวมถึงเตรียมวัคซีน เข็มที่ 3 ในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธ์ รวมถึงการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีฐานผลิตวัควีนแอสตร้าเซเนก้าในประเทศ แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเจรจาผู้ผลิตวัคซีน อีกหลายราย นอกเหนือ จาก 7 บริษัทที่ได้พูดคุยไว้ ซึ่งทุกอย่างต้องปฎิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์การสั่งซื้อวัคซีน


อย่างไรก็ตามล่าสุด ไทยจะได้รับวัคซีน อีก 3 ล้าน 5 แสนโดสในเดือนนี้ จากนั้นก็จะปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะทางการแพทย์เชื่อว่า แม้ฉีดเข้มแรก ก็ลดโอกาสรับเชื้อ บรรเทาอาการต่างๆลงได้ ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกัน และย้ำว่าที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจะต้องดำเนินการจัดการอย่างรวดเร็ว อย่างเด็ดขาด


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ผลการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ถึงแนวทางในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน โดยควรกำหนดให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งสถานพยาบาลภาคเอกชนควรคัดเลือกวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก ที่มีคุณลักษณะหรือยี่ห้อที่แตกต่างจากวัคซีนที่ภาครัฐนำเข้ามา และสามารถจัดส่งวัคซีนได้ทันภายในปี 2564


หลังหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ประเทศไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีฯสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไฟเซอร์รับปากสำรองวัคซีนให้ไทยแล้ว ประมาณ 10-20 ล้านโดส ครอบคลุมเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป ซึ่งจะสามารถจัดส่งให้ได้ในกลางปีนี้ (ช่วงไตรมาศ3-4 ) จึงได้เร่งรัดให้บริษัทเตรียมเอกสาร เพื่อยื่นขึ้นทะเบียนกับ อย.ให้เรียบร้อย ทั้งนี้หลังจากไฟเซอร์จัดส่งวัคซีนให้รัฐบาลภายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถสั่งซื้อได้ พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้ประวิงเวลาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในประเทศ เพราะที่ผ่านมาได้เจรจาหารือกับบริษัทมาโดยตลอด


ส่วนช่วงเช้าวานนี้ 7 พ.ค. ที่ห้องจูปิเตอร์ 14 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เจ้าหน้าที่ได้นำเตียงผู้ป่วยเข้าในพื้นที่ชาเลนเจอร์ 2 จำนวน 1,000 เตียง ต่อมาเวลา 16.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีฯสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจดูความพร้อม และรับมอบเตียงกระดาษอีก 3,500 เตียง


ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12 ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อฯ มีมติเห็นชอบคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูง คณะกรรมการโรคติดต่อฯ จึงมีมติเห็นสมควรดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เม.ย. 64 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เม.ย.64 จนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2564

คุณอาจสนใจ

Related News