หนุ่มป่วยโควิด เข้า ICU 3 วัน ทั้งที่อาการไม่หนัก ค่ารักษาเกือบล้าน ด้าน สปสช.ยันคนติดโควิดรักษาฟรี

สังคม

หนุ่มป่วยโควิด เข้า ICU 3 วัน ทั้งที่อาการไม่หนัก ค่ารักษาเกือบล้าน ด้าน สปสช.ยันคนติดโควิดรักษาฟรี

โดย thichaphat_d

7 พ.ค. 2564

2.3K views

เพจหมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ โพสต์ภาพใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่ง ที่รักษากับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นการรักษาตัว 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.- 4 พ.ค. โดยเป็นการเข้ารักษาในห้องไอซียูถึง 13 วัน โดยมียอดค่ารักษาสูงกว่า 1,039,866.66 บาท แต่มีส่วนลด 50,195.82 บาท ทำให้เหลือยอดสุทธิในการรักษาคือ 989,670 บาท


ทางเพจระบุข้อความว่า "ถ้าไปรักษาโควิดที่รพ.เอกชนบางที่ แทบไม่อยากฟื้นขึ้นมาจ่ายเลย หมอ! ผมขอขายไต" จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่าแพงเกินไปหรือไม่


ล่าสุด หนุ่มรายหนึ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องค่ารักษาพยาบาลของน้องชาย หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากการติดเชื้อ โควิด-19 เป็นเวลา 16 วัน เข้าไอซียู 3 วัน ค่ารักษาพุ่งสูงเกือบ 1 ล้านบาท


โดยหนุ่มรายดังกล่าว เล่าว่า น้องชายของตนติดเชื้อ โควิด-19 ทราบผลเมื่อวันที่ 6 เมษายนจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแต่โรงพยาบาลดังกล่าวเตียงเต็ม ทางญาติจึงพยายามติดต่อโรงพยาบาลอื่นๆ กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งรับตัวเข้ารักษาในเย็นวันเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยเป็นคนขับรถไปโรงพยาบาลด้วยตัวเอง


ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล น้องชายไม่มีอาการใดๆน่ากังวล จากสายตาของคนที่บ้าน เพราะได้พูดคุยผ่านทางวิดีโอคอลกันทุกวัน และน้องชายยังได้สั่งอาหารจากข้างนอกมากินทุกวันอีกด้วย


ต่อมาวันที่ 17 เมษายน ตนได้สอบถามเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลแจ้งมาว่า มีค่าใช้จ่าย 430,000 บาท เราก็อุ่นใจเพราะยังอยู่ในวงเงินประกันชีวิต 5 แสนบาท แต่เย็นวันเดียวกัน น้องชายถูกย้ายตัวเข้าห้องไอซียู เพราะทางแพทย์แจ้งว่าปอดมีปัญหา ซึ่งตนทราบเรื่องจากตัวน้องชายเอง ทางโรงพยาบาลไม่ได้แจ้งญาติแต่อย่างใด ทั้งที่บอกไว้ก่อนแล้วว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นให้แจ้งญาติทราบก่อน ซึ่งระหว่างที่อยู่ห้องไอซียูน้องชายก็ดูอาการไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังมีการวีดีโอคอลพูดคุยกัน และน้องชายก็ยังสั่งอาหารจากข้างนอกเข้ามากินในห้องไอซีอยู่ได้


กระทั่ง วันที่ 20 เมษายน น้องชายถูกย้ายตัวจากห้องไอซียูเข้าไปอยู่ในห้องผู้ป่วยปกติ ตนได้สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาลอีกครั้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก 500,000 บาท ประกอบด้วยค่ายาในห้องไอซียู 400,000 บาท และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 930,000 บาท ซึ่งทำให้ครอบครัวรู้สึกตกใจมาก


วันที่ 22 เมษายน ตนจึงเข้าไปที่โรงพยาบาลเพื่อสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าว ใช้เวลานั่งรอเจ้าหน้าที่ต่างๆ มาอธิบายนานถึง 2 ชม. เจ้าหน้าที่ที่มาก็พูดจาวกไปวนมา แจ้งว่าญาติไม่มีสิทธิในการสอบถาม เพราะแจ้งกับคนไข้ไปหมดแล้ว มาถามแบบนี้คุยยังไงก็ไม่จบ ซึ่งเราก็ถามถึงสิทธิที่ญาติต้องรู้ ให้เบอร์ตรงกับทางโรงพยาบาล บอกมีอะไรให้โทรแจ้งแต่ก็ไม่เคยโทร ซึ่งเราเป็นคนจ่ายเงิน เราจะไม่สามารถสอบถามอะไรได้จริงๆหรือ


พอตกเย็น ทางโรงพยาบาลได้แจ้งให้น้องชายออกจากโรงพยาบาลทันที ทั้งที่กำหนดเดิมที่ต้องออกจากโรงพยาบาลคือวันที่ 24 เมษายน หลังจากถามรายละเอียดทางพยาบาลและการเงินก็ไม่ได้คำตอบใดๆ เลยอยากพบแพทย์ที่รักษาทางโรงพยาบาลก็บ่ายเบี่ยง ตนจึงแจ้งว่า พร้อมเมื่อไหร่ให้โทรแจ้ง เราจะเข้ามาคุยอีกที


ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าว ตนตั้งข้อสังเกตว่า หากน้องชายมีอาการวิกฤตจนถึงต้องเข้าห้องไอซียู แต่ทำไมยังสามารถพูดคุยได้ปกติกับครอบครัว และยังสามารถสั่งอาหารเข้าไปกินในห้องไอซีอยู่ได้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในห้องไอซียูทำไมถึงแพงขึ้นมากว่าเท่าตัว ทั้งที่อยู่ห้องไอซียูเพียง 3 วัน และหากน้องชายอาการวิกฤตจริงทำไมถึงให้กลับบ้านหลังจากออกจากห้องไอซียูเพียงแค่ 2 วัน


และเมื่อเทียบกับกรณีของเพจหมอแล็บแพนด้าที่นำมาเผยแพร่ ซึ่งเขาอยู่ไอซียูนานถึง 13 วัน แต่ค่าใช้จ่ายรวมแล้วเทียบเท่ากับน้องชายของตน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเข้าไปพูดคุยเรื่องค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาลอีกครั้ง และก็คงจะจ่ายตามที่โรงพยาบาลแจ้งมา เพราะอย่างน้อยในวันที่หาโรงพยาบาลไม่ได้ ทางโรงพยาบาลนี้ก็ยังรับตัวน้องชายตนไปรักษา แต่ที่นำมาโพสต์ก็เพราะเกิดความสงสัยเท่านั้น


ขณะที่ น.พ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ตามข้อกำหนดผู้ติดเชื้อโควิดจะได้รับการรักษาฟรี โดย สปสช. จะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีประกันสุขภาพ ทางโรงพยาบาลก็จะเรียกเก็บกับบริษัทประกัน


ทั้งนี้ยืนยันว่าโรงพยาบาลจะไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะไปรักษาในห้องที่แพงกว่าได้หรือไม่ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องมีการรักษาและดูแลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามอาจมีปัญหาได้ กรณีที่ ผู้ป่วยไม่ประสงค์รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ตัวเองไปตรวจ และมีสิทธิ (ตรวจโรคพยาบาลไหน ต้องรักษาที่โรงพยาบาลนั้น)


ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า โดยหลักการแล้ว โรงพยาบาลเอกชนจะทำเรื่องเบิกมากับทางเราอยู่แล้ว โดยรายการที่จะเบิกนั้นเป็นรายการที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น ซึ่งมีประมาณ 3,000 รายการ ที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเป็นฝ่ายเสนอเข้ามา พร้อมกำหนดราคามาทั้งหมด แถมยังกำหนดให้ทางเราจ่ายเพิ่มอีก 20% ด้วย เช่นราคาสำหรับแพทย์ ทางแพทยสภากำหนดให้ 8,000 บาท ทางโรงพยาบาลก็ไม่ควรที่จะเรียกเก็บเกินกว่านั้น เพราะโรคโควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเป็นเหตุฉุกเฉิน ซึ่งทุกโรงพยาบาลได้ร่วมใจกันที่จะคิดราคาสำหรับผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้


อย่างเช่น กรณีที่มีค่าใช้จ่าย 9 แสนกว่าบาท ทางผู้ป่วยสามารถแจ้งเรื่องมาทางเราได้ หรือแจ้งสายด่วน 1330 หรือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งทางเราจะตรวจสอบว่ารายการค่าใช้จ่ายมีรายการตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่อยู่ในรายการเป็นค่าอะไรกันแน่และจำเป็นสำหรับผู้ป่วยหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่สมควร ก็จะแจ้งไปยังโรงพยาบาลให้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ป่วยต่อไป



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/wT0Nrv38YkA

คุณอาจสนใจ

Related News