กทม.น่าห่วง ยอดติดเชื้อยังสูง ศบค.เร่งคุมโควิดชุมชนสำคัญ

สังคม

กทม.น่าห่วง ยอดติดเชื้อยังสูง ศบค.เร่งคุมโควิดชุมชนสำคัญ

โดย panwilai_c

6 พ.ค. 2564

41 views

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ที่ยังพบผู้ติดเชื้อ 1,911 คน พบอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครสูงสุด ขณะที่ ศบค. ระบุว่า มี 3 คลัสเตอร์สำคัญของกทม. ที่พบการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน จึงต้องเร่งจำกัดวงแพร่ระบาดโดยเร็ว


ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันนี้ 1,911 คน รวมสะสม 76,811 คน เสียชีวิตเพิ่ม 18 คน เป็น 336 คน ยังมีผู้รักษาอยู่ 29,680 คน เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,073 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 356 คน


นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 739 คน 3 คลัสเตอร์สำคัญคือ ชุมนุมคลองเตย ชุมนุมบ่อนไก่พัฒนาปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง เขตบางแค


โดย10 เขตของ กทม. ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ อันดับหนึ่ง คือ เขตห้วยขวาง พบถึง 463 คน รองลงมาคือ ดินแดง 426 คน ขณะที่กรุงเทพมหานครได้เสนอแผนการตรวจเชิงรุกให้มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 26,850 คน เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมาให้เร็วที่สุด พร้อมกับการเตรียมเตียงเพิ่มสัปดาห์ละ 1,343 เตียง ตามปริมาณผู้ป่วยที่อาจพบเพิ่มซึ่งคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 5%


ล่าสุดการตรวจเชิงรุกในเขตบางแค ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึง 4 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์บางแค 191 คน เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดใน 4 จุด คือห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งหลังได้รับแจ้งว่ามีพนักงานติดเชื้อ 26 คน ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 68 คน จากการตรวจ 1,413 คน คิดเป็น 4.8% จากนั้นก็เชื่อมโยงไปที่ชุมชนซอยเพชรเกษม 84 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 14 คน โดย 9 คน เป็นชาวกัมพูชา ซึ่งทำงานในห้างสรรพสินค้า


ขณะที่หลายภาคส่วนได้ระดมความช่วยเหลือไปยังประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ศูนย์พักคอย ในพื้นที่คลองเตย (วัดสะพาน) มอบเครื่องอุปโภคบริโภคพร้อมเวชภัณฑ์ป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น


ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์และทีมพรรคไทยสร้างไทย ได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของชุมชน 11 ชุมชน ที่ระบุว่ามีความกังวลถึงการติดเชื้อ การอดตาย และยังไม่ทราบถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จึงได้ข้อสรุปจากการหารือว่าทางชุมชนอยากให้เร่งตรวจหาเชื้อ ออกมาตรการควบคุมให้คนในพื้นที่อยู่ภายในบ้านเพื่อจำกัดเชื้อ และฉีดวัคซีนให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์


ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการให้ยาพาวิฟิราเวียร์ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โดยควรใช้ให้ถูกกับกลุ่มอาการ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมยังไม่จำเป็น แต่ในกลุ่มของผู้มีอาการและมีโรคร่วม รวมไปถึงผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการหรือปอดอักเสบเล็กน้อยก็สามารถให้ได้ทันที เพื่อลดความเสี่ยงไปเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการหนัก


ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตร "ยาฟาวิพิราเวียร์" เนื่องจากไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ทำให้ทางองค์การเภสัชกรรม และภาคเอกชนสามารถผลิตใช้เองในประเทศได้เลย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้สะดวกรวดเร็ว

คุณอาจสนใจ