ยังลุ้นอยู่มั้ย?! ศาลนัดฟันคดีคุณสมบัติ “ธรรมนัส”บ่ายนี้ เปิดแนวทางวินิจฉัย

เลือกตั้งและการเมือง

ยังลุ้นอยู่มั้ย?! ศาลนัดฟันคดีคุณสมบัติ “ธรรมนัส”บ่ายนี้ เปิดแนวทางวินิจฉัย

โดย JitrarutP

5 พ.ค. 2564

1.3K views

วันนี้ 5 พ.ค. เวลา 15.00น. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คดีคุณสมบัติความเป็น ส.ส. และ คุณสมบัติรัฐมนตรี ของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่


คดีนี้เป็นผลมาจากการปภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2563 เนื่องจาก รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ โดยศาลออสเตรเลียตัดสินจำคุก 6 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2537 ความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด



ซึ่งความผิดลักษณะดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) ของไทยกำหนดห้ามผู้ที่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ลงสมัครเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับคุณสมบัติรัฐมนตรีตามมาตรา 160 (6)


ทำให้ฝ่ายค้านต้องเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต่อมาศาลได้ให้ รอ.ธรรมนัสทำคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหารวมทั้งเรียกข้อมูลหลักฐานจากต่างประเทศ โดยกระทรวงต่างประเทศ จนมีพยานหลักฐานเพียงพอ


อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ รอ.ธรรมนัส พยายาม ต่อสู้มาตลอดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งไม่ได้มีผลผูกพันต่อกฎหมายไทย และการลงเลือกตั้ง เป็น ส.ส.พะเยา กกต.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมว่าถูกต้องโทษโดยศาลไทยแม้แต่ครั้งเดียว จึงไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ




สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียง2 แนวทางเท่านั้น คือ มีความผิด กับ ไม่มีความผิด


- มีความผิด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ชัดเจน จะส่งผลให้พ้นจากความเป็น ส.ส.และพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทันที โดย กกต.จะดำเนินคดีทางอาญา และคืนเงินประจำตำแหน่ง รวมถึงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งด้วย


- ไม่มีความผิด เพราะเป็นการกระทำผิดและถูกลงโทษตามกฎหมายต่างประเทศ



ด้าน ศ.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับช่อง3 ถึงข้อกฎหมาย ในคดีคุณสมบัติ ของ รอ.ธรรมนัส ว่า


คดีนี้แม้ตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามผู้เคยต้องคำพิพากษาในคดียาเสพติดมาดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ตามหลักการทางกฎหมายแล้ว ข้อห้ามดังกล่าวหมายถึง กรณีคำพิพากษาของไทยเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ดังนั้นคนที่ถูกศาลต่างประเทศพิพากษาจำคุกแล้วหนีกลับมาไทย ก็ไม่สามารถเอามาติดคุกต่อในไทยได้ ยกเว้นจะมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อขอโอนตัวนักโทษมาดำเนินคดีในไทยแทนถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ แต่ก็ต้องรับโทษตามระยะเวลาที่ศาลต่างประเทศกำหนด


ศ.จรัญ กล่าวว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ไปเข้าข้างคนผิดแต่มันเป็นหลักการกฎหมายสากล ที่อำนาจกฎหมาย อำนาจศาลหรืออำนาจรัฐ จำกัดอยู่แต่ในประเทศตัวเองเพราะมันถูกสร้างโดยอำนาจของรัฐแต่ละรัฐ หากต้องการให้ครอบคลุมคำพิพากษาต่างประเทศด้วย ก็ต้องเขียนยกเว้นไว้ ซึ่งบางประเทศในยุโรป มีการขยายขอบเขตของกฎหมายครอบคลุมถึงการกระทำของพลเมืองตัวเองในต่างประเทศด้วย


อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ แม้ไม่อาจนำคำพิพากษาต่างประเทศมาเอาผิดได้ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคุณสมบัติของรัฐมนตรีกำหนดชัดเจน ในมาตรา 160 (5) ว่าจะต้อง ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็สามารถร้องให้มีการตรวจสอบตามมาตรานี้ได้


คอลัมน์ “ใต้เตียงการเมือง”



คุณอาจสนใจ

Related News