กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ผ่านสื่อออนไลน์

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ผ่านสื่อออนไลน์

โดย passamon_a

29 เม.ย. 2564

22 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ผ่านสื่อออนไลน์


วันนี้ เวลา 8 นาฬิกา 34 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามงานโครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พระราม 8 และสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


โอกาสนี้ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ เดิมเคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทราย เมื่อปี 2526 ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ 340 ไร่ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรม โดยเน้นปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ควบคู่กับการปลูกพืช จัดหาแหล่งน้ำ


ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินงานตามพระราชดำริ อาทิ ด้านการเกษตร ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่แปลงที่ 2 ซึ่งเป็นแปลงที่ทอดพระเนตรในวันนี้ โดยมีการฟื้นฟูสภาพดินด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ใช้สอย เช่น สะเดา ไม้ผล เช่น มะรุม มะเฟือง น้อยหน่า และไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก อีกทั้งยังมีพืชสมุนไพร เช่น โปร่งฟ้า ขาไก่ดำ เสลดพังพอนตัวเมีย ทำให้มีความหลากหลาย เป็นการให้ความรู้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ศึกษาดูงาน


ในส่วนของแปลงนา ปลูกข้าวด้วยวิธีปักดำ ใช้พันธุ์ข้าว กข 41 (กอขอสี่สิบเอ็ด) พันธุ์ กข 43 (กอขอสี่สิบสาม) และพันธุ์กุหลาบแดง ในแปลงนี้มีการลดขนาดสระเก็บกักน้ำเหลือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสแนะนำไว้ว่า ทฤษฎีใหม่ให้มีการยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้าพื้นที่ไหนมีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะมาเติมสระได้ ก็สามารถลดขนาดสระลง เพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้น


ส่วนกิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ได้นำใบและรากของต้นโปร่งฟ้าแปรรูปเป็นชา มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ขับลม และแก้ไข้ ทั้งเป็นส่วนผสมทำยาดมสมุนไพร น้ำมันหอมระเหย ซึ่งได้ขอจดทะเบียนตามมาตรฐานของ อย.อย่างถูกต้อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รถจัดจำหน่ายสินค้าภัทรพัฒน์ จะรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์แปรรูป ไปจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาย่อมเยา เพื่อลดค่าครองชีพ


นอกจากนี้ทรงติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในปี 2564 นี้มีปริมาณน้ำเพียงพอ เป็นผลจากปลายปี 2563 มีพายุพัดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนตก สระเก็บกักน้ำได้เต็มพื้นที่ และมีการพื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงสร้างฝายทดน้ำ 2 แห่ง รวมทั้งสร้างอาคารท่อเหลี่ยมแบบมีฝายน้ำล้น 3 แห่ง ปัจจุบันสามารถพลิกฟื้นผืนดินที่เคยแห้งแล้ง ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งเป็นแหล่งให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ปีละกว่า 2 หมื่นคน ในการนี้ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ข้าวห่อใบบัวสวนสมเด็จ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการฯ


ต่อมา เวลา 12 นาฬิกา 26 นาที เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามงานโครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) มีการบรรยายแบ่งเป็น 5 ตอน


ตอนที่ 1 โดยนายเกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ให้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการกำจัดขยะ และการบำบัดน้ำเสีย ใช้หลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ มีจังหวัดเพชรบุรีเป็นศูนย์กลาง


จากการดำเนินงานพบว่าคุณภาพน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีดีขึ้น ระบบนิเวศป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งชนิดและปริมาณ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาวิจัย ฝึกอบรมให้กับผู้สนใจในทุกระดับ สร้างงานวิจัยในเชิงลึก เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ 477 เรื่อง และมีผลงานตีพิมพ์วารสารรวม 545 เรื่อง


ตอนที่ 2 เป็นการรายงานผลงานวิจัย และการปรับปรุงพื้นที่โครงการ ได้แก่ การจัดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดิน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานีฯ, การรวบรวมน้ำเสีย พบว่าน้ำเสียที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่งไปบำบัดที่โครงการฯไม่ทั้งหมด เนื่องจากระบบระบายน้ำเสียไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่


ส่วนปลานิลในบ่อบำบัด นำมาประกอบอาหารได้ปลอดภัย, ด้านการวิจัยแปลงพืชบำบัดน้ำเสีย ปัจจุบันนำพืชที่ปลูกในระบบบำบัดเดิมออก พลิกหน้าดินเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมี มีการปลูกพืชเพิ่มเติม ได้แก่ ต้นอ้อ ที่วิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย เป็นแหล่งอาหาร ที่อาศัยของนกประจำถิ่น และนกอพยพ


ตอนที่ 3 เป็นการรายงาน ผลการวิจัยการเปลี่ยนแปลงความร้อนในป่าชายเลน และสภาพป่าชายเลน รวมถึงการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน “เส้นทางมัจฉาบาทา” ระยะทาง 860 เมตร มีศาลาพัก และหอคอยภูมิทัศนา สูง 7.5 เมตร เป็นจุดชมวิวมองเห็นเรือนยอดของป่าต้นโกงกาง ต้นแสม และทะเลอ่าวไทย จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแหล่งดูนกที่สำคัญอันดับ 2 ของประเทศ


ตอนที่ 4 เป็นการรายงานผลการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การเตรียมตัวอย่างน้ำ ดิน และพืช เพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างทางกายภาพ และเคมี, การวิเคราะห์ตัวอย่างจุลชีววิทยา


และตอนที่ 5 เป็นการรายงานแนวทางการดำเนินงานโครงการฯในอนาคต ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสีย และการกำจัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม มีนักเรียน และผู้ที่สนใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เข้าศึกษาดูงานมากกว่า 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย ตามแนวพระราชดำริส่วนภูมิภาค ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมแล้วกว่า 400 หน่วยงาน


โอกาสนี้ ได้มีพระราชปฏิสันถารกับนักวิจัย และเจ้าหน้าที่โครงการฯ เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ