เสียชีวิตแล้ว 3 ราย หลังกิน 'ลาบหมูดิบ' ผู้ป่วยเผยอาเจียนหนักจนหวิดดับ

อาชญากรรม

เสียชีวิตแล้ว 3 ราย หลังกิน 'ลาบหมูดิบ' ผู้ป่วยเผยอาเจียนหนักจนหวิดดับ

โดย weerawit_c

10 เม.ย. 2564

1.7K views

นครราชสีมา - เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านจากพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 6 บ้านวังโป่ง หมู่ 11 บ้านวังโป่งเหนือ และหมู่ 13 บ้านวังโป่งบูรพา ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา จำนวนกว่า 200 คน ต้องเดินทางเข้ารับการตรวจหาอาการโรคไข้หูดับที่สถานีอนามัย และโรงพยาบาล หลังจากไปกินเลี้ยงงานบวชในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวบ้าน 3 ราย เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ


นางสาวจิดาภา เผียดสูงเนิน อายุ 42 ปี หนึ่งในผู้ป่วยไข้หูดับ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ในช่วงเวลา 08.00 น. ตนได้เดินทางไปร่วมงานบวช โดยเจ้าภาพได้เลี้ยงลาบหมูดิบ ต้มจืด แกงบอน ผัดหน่อไม้ดอง และผัดเปรี้ยวหวาน ซึ่งตนได้ร่วมกินข้าวที่บ้านงานบวช และจากนั้นในช่วงเวลา 14.00 น. ตนเริ่มมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ซึ่งตนได้นอนพักรักษาตัวที่บ้าน ต่อมาอีก 2-3 วัน ตนเริ่มมีอาการชาตามแขน และขา รู้สึกปวดที่หัว ต้นคอ ไหล่ และหลัง ก่อนที่วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ตนมีอาการคล้ายคนเมาค้าง ตัวแข็ง ตนจึงได้เดินทางไปให้หมอตรวจที่โรงพยาบาล หมอได้ตรวจร่างกาย และพบว่าตนป่วยเป็นโรคไข้หูดับ เนื่องมาจากการกินอาหารดิบ


ด้านนางคีมดัด แช่มขุนทด อายุ 74 ปี ภรรยาของ 1 ในผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปร่วมงานบวชในวันที่ 28 มีนาคม หลังจากนั้นตนได้ห่อลาบดิบจากบ้านงานบวช กลับมาบ้านให้ นายจัว แช่มขุนทด สามีของตน วัย 73 ปี สามี รับประทาน หลังจากนั้นในวันที่ 30 มีนาคม สามีมีอาการเป็นไข้สูง หนาวสั่น ตนจึงรีบนำตัวไปโรงพยาบาลรักษาตัว และตรวจพบว่าเป็นโรคไข้หูดับ ซึ่งสามีตนอาการทรุดลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตลงในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ตนเองไม่กล้าที่จะรับประทานอาหารประเภทหมูอีกเลย


ขณะที่นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว 21 คน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดจำนวน 18 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ทั้งนี้โรคไข้หูดับ มีสาเหตุเกิดจากเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ทำให้หมูป่วยและติดต่อจากหมูสู่คน โดยการสัมผัสทางบาดแผลตามร่างกายหรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่เลี้ยงหมูหรือทำงานชำแหละหมู สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น นํ้ามูก น้ำลาย รวมถึงผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด


สำหรับการป้องกัน ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เลี่ยงการซื้อหมูที่จำหน่ายข้างทาง ตลาดขายเร่ ตลาดขายของป่า หรือซื้อหมูมาชำแหละเอง ส่วนผู้เลี้ยงหมู ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู ควรสวมเสื้อ รองเท้าบูตยาง สวมถุงมือ หลังงานเสร็จจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ไม่รับประทานลาบ ลู่ หมูดิบ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้กินอาหารที่ปรุงสุกร้อน ผ่านความร้อนอย่างน้อย 10 นาที ไม่ควรนำหมูที่ป่วยตายมาบริโภค และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมูป่วย ที่สำคัญให้ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู ขณะที่การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย หากมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/eMUcUjhKTvE

คุณอาจสนใจ

Related News