“ล่มสภา” ยื้อ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ลากเกมแก้รัฐธรรมนูญ?

เลือกตั้งและการเมือง

“ล่มสภา” ยื้อ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ลากเกมแก้รัฐธรรมนูญ?

โดย thichaphat_d

8 เม.ย. 2564

197 views

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องยุติกลางคัน หลัง ส.ว.ที่เห็นพ้องกับฝ่ายรัฐบาลเสนอนับองค์ประชุม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่านี่คืออีก “แทคติก” ที่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่


วันนี้เป็นการประชุมรัฐสภาวันที่ 2 ของการเปิดประชุมสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเปิดแค่ 2 วัน ตั้งเป้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในวาระ 2-3 ให้เสร็จ และ ในวาระการประชุมยังบรรจุ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ไว้ด้วย หวังว่าจะพิจารณาต่อจากร่างกฎหมายประชามติ


แต่ด้วยสถานการณ์โควิด และ ส.ส.ภูมิใจไทย ก็ลาประชุมกักตัวทั้งพรรค ทำให้ในห้องตลอดการพิจารณามีสมาชิก คือ ส.ส.และ ส.ว.อยู่น้อยมาก การโหวตแต่ละมาตรา องค์ประชุมเกินมาแบบเสียงปริ่มน้ำ


ถ้าจำกันได้ตอนเริ่มประชุมเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.64) “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ ก็เสนอให้เลื่อนการประชุมโดยอ้างสถานการณ์โควิด มีสมาชิกเข้าประชุมน้อย แต่ “ประธานชวน หลีกภัย” ยืนยันให้เดินหน้าประชุมต่อ ขณะที่ฝ่ายค้านเองก็ตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามทำให้องค์ประชุมไม่ครบเพื่อยื้อการการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เพราะมีผลต่อการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ


หลังพิจารณาผ่านมาวันครึ่ง เหลือไม่กี่มาตราก็จะจบ และเข้าสู่การให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3


ปรากฏว่า “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” ส.ว.ที่รู้กันดีว่ามีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายค้านทั้งในสภาและนอกสภา และเห็นพ้องต้องกันกับฝ่ายรัฐบาลมาตลอดได้เสนอให้นับองค์ประชุม ทั้งที่คาดเดาได้ว่าถ้านับก็ไม่ครบองค์ประชุม สภาล่มแน่


และปกติการนับองค์ประชุม จะเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้านเพื่อต่อรองเกมในสภากับฝ่ายรัฐบาล ครั้งนี้ฝ่ายค้านแสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าจะเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านไปได้ -ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่าการเสนอนับองค์ประชุมของ ส.ว.กิตติศักดิ์ นี้ มีเจตนาซ่อนเร้นอะไรหรือไม่


ประธานชวน พยายามประนีประนอม ขอให้ทุกฝ่ายคุยกันเพื่อจะให้เดินหน้าต่อได้ และขอร้องให้มีการทบทวนการเสนอนับองค์ประชุม แต่นายกิตติศักดิ์ ไม่ยอม สุดท้ายประธานชวนจึงสั่งเลื่อนการประชุมออกไป โดยไม่ได้มีการนับองค์ประชุม เพราะรู้ดีว่าถ้านับองค์ประชุมก็ไม่ครบ ซึ่งนายชวน ต้องการรักษาภาพพจน์ของสภา ไม่อยากให้เกิดภาพ “สภาล่ม”


ซึ่งก็หมายถึงขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยังต้องค้างเติ่งอยู่ในสภา รอเวลาเปิดสมัยประชุมในเดือนพฤษภาคม แล้วค่อยนัดพิจารณากันต่ออีกครั้ง


มองเป็นอย่างอื่นได้ยาก นอกจากจะบอกว่า นี่คืออีก “แทคติก” ในการยื้อกฎหมายประชามติ เพื่อลากเกมในการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่


เพราะหากกฎหมายประชามติผ่านออกมาได้ ประกาศใช้ได้ ก็หมายถึงอาจจะมีการกดดันทั้งจากในสภาและนอกสภาให้รัฐบาลดำเนินการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้


การยื้อร่าง พ.ร.บ.ประชามติเอาไว้ จึงเท่ากับยื้อเวลา ยื้อแรงกดดันในการการแก้รัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ” ของฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ


ยังไม่รวมกับความเป็นไปได้ที่จะมี ส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่ง เตรียมตั้งท่าส่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากผ่านความเห็นชอบวาระ 3


นั่นเท่ากับการ “ล่มสภา” ในวันนี้ก็เป็นการเพิ่มสเต็ปในการยื้อกระบวนการทำคลอดกฎหมายประชามติ


รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิการ มองว่า การที่ ส.ว.กิตติศักดิ์ เสนอนับองค์ประชุม คงเพราะกังวลว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านออกไป อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งไปยื่นขอทำประชามติเพื่อขอยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง ส.ว.ส่วนหนึ่งคงไม่ยอม


“นี่เป็นการใช้แทคติกในสภา โดยการขอนับองค์ประชุม โดยอาศัยจังหวะของสถานการณ์โควิดที่มีสมาชิกมาประชุมน้อย เพื่อเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ออกไป ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และฝ่ายการเมืองที่มาจากการสรรหา” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว และ มองว่าการใช้แทคติกนี้จะส่งผลไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย


ดังนั้น จึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ไม่ได้ สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ นอกจากคือความตั้งใจที่จะ “ล่มสภา” เพื่อยื้อ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ และเป้าหมายปลายทาง คือ ลากเกมแก้รัฐธรรมนูญ


(วิเคราะห์โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ ทีมข่าวการเมือง)

คุณอาจสนใจ

Related News