ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่ง ก.คลัง ที่ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน

เลือกตั้งและการเมือง

ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่ง ก.คลัง ที่ให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน

โดย JitrarutP

2 เม.ย. 2564

67 views

ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน จากกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวและจำนำข้าว พร้อมสั่งเพิกถอนการยึด อายัดทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีกับสามี เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด เหตุคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย


09.00 น. ศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 135/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใด ๆ ของกรมบังคับคดี อธิารยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง


ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค.2562 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ในคดีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ร่วมกันยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร กรณีที่ร่วมกันมีคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ศาลให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีการทุจริตเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนเกี่ยวข้องแต่การสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กลับมิได้มีการดำเนินสอบสวนให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่คนใดควรต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดจากการทุจริต อีกทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรับรู้เกี่ยวข้องเฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ


แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิดในมูลละเมิดเดียวกันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน


จึงจะนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดมากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในคำให้การของกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 5 มิ.ย.2563 ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด


การกำหนดสัดส่วนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดจึงมิได้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว 66 ลงวันที่ 25 ก.ย.2550 ประกอบกับ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติตามโครงการรับจำนำข้าว และไม่อาจพิจารณาเพียงจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชี


จากการซื้อและขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการฯ โดยต้องคิดคำนวณการหักค่าข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวคงเหลือในคลังสินค้า การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการระบายข้าวอยู่เป็นจำนวนมากให้ได้ข้อยุติก่อน การที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย จำนวน 178,586,365,141 บาท คิดเป็นเงิน 35,717,273,028.83 บาท จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์


เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ กระทรวงการคลังที่ 135/2559 ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด


และไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินที่ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์รวมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด อย่างไรก็ตาม การกระทำของสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลัง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย และเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิด จึงไม่เป็นการกระทำละเมิด ที่สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลัง จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์


ด้าน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการพิพากษาในวันนี้เป็นคุณกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากกระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์จะดำเนินดารต่อไปอย่างไรนั้น ว่า เราต้องเตรียมความพร้อมเพราะว่าเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลปกครองแต่สิ่งที่สำคัญจากคำพิพากษาในวันนี้ นอกจากการเพิกถอนคำสั่งที่ให้ชดใช้เงิน ยึด และอายัดเงินแล้วนั้น คือในคำพิพากษาระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีส่วนในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้จะนำคำพิพากษาศึกษาอย่างละเอียดเพื่อการต่อสู้ครั้งต่อไป


คุณอาจสนใจ

Related News