ย้อนคดีไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ สู่การซ้อนแผนจับ ทสจ.มุกดาหาร รีดสินบนของกลาง

อาชญากรรม

ย้อนคดีไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ สู่การซ้อนแผนจับ ทสจ.มุกดาหาร รีดสินบนของกลาง

โดย nicharee_m

27 มี.ค. 2564

131 views

การเคลื่อนย้ายไม้หวงห้ามทุกชนิดออกจากพื้นที่หรือนอกราชอาณาจักรที่ถูกต้อง นอกจากต้องมีเอกสารกำกับการเคลื่อนย้ายแล้ว ที่สำคัญที่หัวไม้ ทั้ง 2 ด้าน ก็จะต้องปรากฎรอยตราของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ตรวจรับรอง ปรากฏอยู่ ด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้แต่ละนาย ที่มีหน้าที่ก็จะมีรหัสตราประจำตัว โดยนายสุรเดช อัคราช มีรหัส "ต.7064" เป็นตราประจำตัว ส่วนประเด็นที่ชุดจับกุมชุดที่มีนายสุรเดช เป็นหัวหน้าชุดนั้น จึงตั้งข้อสงสัย และเป็นมูลเหตุการยึดไว้ตรวจสอบ เพราะไม่พบรอยตราประทับ ที่จะบอกว่า เป็นไม้มาจากสปป.ลาว กำกับ คดีนี้จึงกลายเป็นอีกคดีที่ใช้การพิสูจน์มายาวนาน คุณสถาพร ด่านขุดทด ไปที่กรมป่าไม้ รื้อแฟ้มคดีขึ้นมา


เเฟ้มเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ บันทึกทุกเเผ่นยังเก็บรักษาที่กรมป่าไม้ ย้อนไปในเดือนสิงหาคม 2549 ระหว่างที่ไม้พะยูงกว่า 1,600 ท่อน ถูกขนข้ามเเดนเคลื่อนผ่านด่านที่มุกดาหาร เตรียมมุ่งหน้าปลายทางที่ด่านศุลกากรลาดกระบัง ในบันทึกระบุว่า สำนักงานทรัพยากรฯมุกดาหาร เกิดความสงสัยถึงที่มาของไม้


ขณะนั้น พบความผิดปกติในเอกสาร สงสัยว่าอาจปลอมเเปลงขึ้น ประกอบกับได้ข้อมูลจากสายข่าวเเจ้งว่า ไม้พะยูงล็อตนี้ ไม่มีรูปรอยดวงตราจากประเทศต้นทาง จึงทำหนังสือด่วนถึงด่านศุลกากรลาดกระบัง 3 ฉบับ ขอให้สั่งชะลอการปล่อยสินค้าผ่านเเดน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง


รหัสเเละหมายเลขตู้ที่ค้นเจอในบันทึก โดยทั้ง 11 ตู้อยู่ในการดูเเลของศุลกากร บริเวณลานวางตู้สินค้าของเอกชน ย่านลาดกระบัง การตรวจสอบในขณะนั้น ไม่พบตรา ปมล. ของ สปป.ลาว ตีประทับ จึงตรวจยึด เเละใช้ค้อนประทับตีตรา ต.7064 ซึ่งเป็นตราประจำตัวของนายสุรเดช อัคราช ก่อนที่กรมป่าไม้จะมอบหมายให้นายสุรเดช ซึ่งมีชื่อร่วมในบันทึกการจับกุม เข้าเเจ้งความดำเนินคดีกับ บริษัทชิปปิ้งเจ้าของตู้ ในความผิดที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าไม้ ร่วมกับ บก.ปทส.


ของกลางถูกเก็บไว้ย่านลาดกระบังเรื่อยมา กระทั่ง 19 ม.ค.2553 ที่ทำการอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ สั่งไม่ฟ้อง ทำหนังสือถึงผู้การ ปทส. เเจ้งว่าพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งเด็ดขาดคือไม่ฟ้อง ใจความช่วงหนึ่งระบุคำวินิจฉัย พิจารณาพยานหลักฐาน รับฟังได้ว่า ไม้ของกลางมีเเหล่งกำเนิดจากสปป.ลาว ถูกนำเข้าราชอาณาจักรไทย โดยผ่านเเดนตามกระบวนการเพื่อส่งต่อไปประเทศจีน การกระทำของผู้ต้องหา จึงไม่เข้าข่ายมีไม้หวงห้ามไว้ครอบครองเกินปริมาณ ประกอบกับผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานไม่พอฟ้อง


พบข้อมูลว่า หลังจากอันการสั่งไม่ฟ้อง เเละภายหลังมีคำสั่งให้คืนของกลาง ทำให้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีคนอย่างน้อย 4 กลุ่มหลักๆ ที่ทำหนังสืออ้างสิทธิเป็นเจ้าของไม้ มูลค่าไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท หนึ่งในนั้นก็มีบริษัทชิปปิ้งที่อัยการสั่งไม่ฟ้องด้วย เเต่ที่สุด 24 ธันวาคม 2563 บก.ปทส.ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ลงความเห็นให้คืนของกลางให้กับนิติบุคคล พงสะหวัน วู้ด อินดัสทรี่ โดยขอให้อธิบดีป่าไม้ สั่งการเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบเเละประทับตราปล่อยไม้ ในวันที่ 25 ธันวาคมปีเดียวกัน


เเละชื่อของนายสุรเดช ซึ่งเคยร่วมจับเเละตีตราตรวจยึด ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ ก่อนที่นายสุรเดช จะถูกตัวเเทนของพงสะหวันร้องเรียนกับตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวหาข้าราชการระดับซี 9 เรียกรับรับเงิน 2 ล้าน เเลกกับการปล่อยไม้ จึงเป็นที่มาของการซ้อนเเผนเข้าจับกุม ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบน เจ้าหน้าที่ยืนยันมีพยานหลักฐานมัดเเน่น เงินสดทุกใบมีการทำสำเนาไว้เป็นหลักฐาน เเต่เบื้องต้นนายสุรเดช ยังให้การปฏิเสธ

คุณอาจสนใจ