กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูง

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูง

โดย passamon_a

24 มี.ค. 2564

33 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรม บนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์


วันนี้ เวลา 09.19 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดจากวังสระปทุม, สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พระราม 8 และโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เรื่องการผลิตพืชในระบบอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตจากวัสดุเหลือใช้เป็นการลดต้นทุน และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


รวมไปถึงการผลิตสารชีวภัณฑ์ ป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี อาทิ กิจกรรมการทดสอบ และพัฒนาศักยภาพการปลูกข้าวและพืชอินทรีย์ ในลักษณะนาขั้นบันได การผลิตพืชผักอินทรีย์ การผลิตปัจจัยการผลิตรองรับการผลิตพืชในระบบอินทรีย์


ซึ่งปี 2563 โครงการได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเภทแหล่งผลิตจำนวน 116 ชนิดพืช และขอบข่ายการคัดบรรจุผลิตผลพืชอินทรีย์ จำนวน 83 ชนิดพืช โดยจำหน่ายผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า "ทรัพย์-ปัน" ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้แก่โครงการ


และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังได้สนองพระราชกระแส การจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์แปรรูป ในราคาย่อมเยา ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ พร้อมปรับแนวทางจำหน่าย ไปขายในหมู่บ้านและชุมชน หรือนัดรับตามจุด และเพิ่มช่องทางจำหน่ายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งหมด


นอกจากนี้ยังแปรรูป แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด และเพิ่มมูลค่า ปีนี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป 5 รายการ ได้แก่ ข้าวแดงทรัพย์-ปัน อินทรีย์ ข้าวสูตรพระราชทาน เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ 2 ชนิด คือ ข้าวขาวพันธุ์พิษณุโลก 80 ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล อยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ และข้าวพันธุ์กข 83 เป็นข้าวเจ้าดำที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีกลิ่นหอม ชาสมุนไพรเปี่ยมคุณ ชาสมุนไพรสูตรพระราชทาน ประกอบด้วยสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ เห็ดหลินจือ มะตูม ใบเตย และหญ้าหวาน มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานกลมกล่อม ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น


ส่วนกิจกรรมโรงสีข้าว และกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในภาคประชาชน ซึ่งได้รับมอบจาก โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 2 ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารโรงสีข้าว และกระบวนการผลิตข้าว ให้เป็นโรงสีข้าวชุมชน เพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร และใช้ประโยชน์จากโรงสีข้าวนี้ เพื่อบริโภค และผลิตข้าวถุงจำหน่าย ภายใต้ตราสินค้าทรัพย์-ปัน


โดยได้ดำเนินการขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับอาหาร สำหรับโรงสีข้าว รวมถึงมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ ขอบข่ายการแปรรูปและการคัดบรรจุ และมาตรฐานเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


นอกจากนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชน จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายทรัพย์-ปัน ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ ทำการเกษตรตามมาตรฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ซึ่งได้ฝึกอบรม เพิ่มความรู้และพัฒนาศักยภาพ รวมถึงขอรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และจัดหาช่องทางการจำหน่าย


ในตอนบ่าย ทอดพระเนตรการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดแบบครบวงจร และการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดหลินจือสายพันธุ์ไทย ซึ่งพบในพื้นที่ เมื่อปี 2562 เป็นสายพันธุ์ GC จึงดำเนินการทดสอบปลูกเปรียบเทียบเห็ดหลินจือ 3 สายพันธุ์ ที่พบในโครงการ จากการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีปริมาณสารสำคัญ สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ นับเป็นเห็ดหลินจือสายพันธุ์ไทย ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในอนาคต และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต้นแบบ รวมทั้งพัฒนาเครื่องต้นแบบสไลด์เห็ดหลินจือสด


ในปี 2563 ยังจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ การผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฐาน ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่อำเภอฝาง รวม 4 โรงเรียน นำผลผลิตประกอบอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ตลอดจนจัดฝึกอบรมหลักสูตร "การผลิตเห็ดเศรษฐกิจและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด" ให้แก่ผู้ถูกคุมประพฤติของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง และผู้ต้องขังในเรือนจำอำเภอฝาง เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน


โอกาสนี้ ได้มีพระราชปฏิสันถาร กับคณะเจ้าหน้าที่ และเกษตรกรเครือข่าย ของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ของมูลนิธิชัยพัฒนา และชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยมูลนิธิชัยพัฒนา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 กองกำลังผาเมือง ว่าเป็นโครงการที่มีลักษณะพิเศษ มีทั้งการพัฒนาและการอนุรักษ์ ที่จะต้องทำให้สมดุลกัน รวมทั้ง การสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา


ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา NECTEC หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสม สำหรับการผลิตเห็ดหลินจือตลอดทั้งปี โดยทดสอบการผลิตเห็ดหลินจือในโรงเรือน 3 แบบ ประกอบด้วย โรงเรือนที่ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์และระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ โรงเรือนที่ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ และระบบควบคุมแบบกึ่งอัตโนมัติ และโรงเรือนแบบปกติ


เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต เช่น ต้นทุน ปริมาณผลผลิตทุกช่วงการปลูก รายได้ และคุณภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้แอปพลิเคชั่นควบคุม และจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน ช่วยลดการปนเปื้อน และช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้ จะเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ ที่มีความละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนและบุคคลที่สนใจ สามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาการเพาะเห็ดหลินจือ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเป็นต้นแบบของการผลิตเห็ดชนิดอื่น นอกฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป