ปฎิกิริยาหลังการสลายการชุมนุม กลุ่ม REDEM เรียกร้องถึงนายกฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่าง

เลือกตั้งและการเมือง

ปฎิกิริยาหลังการสลายการชุมนุม กลุ่ม REDEM เรียกร้องถึงนายกฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็นต่าง

โดย weerawit_c

22 มี.ค. 2564

5 views

พลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของรีเดม โดยระบุว่าตำรวจจำเป็นต้องยับยั้งการชุมนุมในช่วงที่ อยู่ระหว่างประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยขณะนี้ มีผู้ถูกควบคุมตัว 20 คน เป็นการควบคุมตัวที่บริเวณบริเวณรอบสนามหลวง 7 คน ควบคุมตัวจากเหตุปะทะบริเวณสะพานวันชาติ 8 คน และควบคุมตัวจากเหตุปะทะบริเวณแยกคอกวัว 5 คน รวมทั้งหมด 20 คน


ในจำนวนนี้ มีเยาวชนหญิง 2 คน อายุ14 และ 15 ปี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112 ส่วนที่เหลือ 18 คน ถูกดำเนินคดีแตกต่างกันออกไป ตามฐานความผิดใน 5 ข้อหาคือ 1.ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2.ฝ่าฝืนพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 3.ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวาย 4.ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน และ 5.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน


ตอนนี้มี 19 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี เพื่อรอนำตัวส่งฟ้องศาล ส่วนอีก 1 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีตำรวจ 11 นาย ที่บาดเจ็บจากการถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน และสะเก็ดระเบิดตามร่างกาย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ 9 นาย ส่วนอีก 2 นาย รักษาตัวที่โรงพยาบาลวชิระ โดยมีตำรวจ 1 นาย มีอาการกะโหลกศีรษะร้าว


ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนหลายสำนักได้รับบาดเจ็บ จากการถูกยิงด้วยกระสุนยาง เช่นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ผู้สื่อข่าวหญิงข่าวสดออนไลน์ รวมถึงผู้สื่อข่าวหญิงช่อง 8 ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะ มีอาการห้อเลือดและปวดศีรษะ จนนอนไม่ได้ แพทย์ต้องให้ยานอนและคาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในอีก 2-3 วัน


ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า การชุมนุมของประชาชน หากเป็นการ ชุมนุมโดยสงบย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ การสลายการชุมนุมต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน แจ้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน ให้ทราบชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทีมข่าวในพื้นที่ ต้องปฏิบัติตามแนวทาง การรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตอย่างเคร่งครัด และองค์กรสื่อต้นสังกัด ต้องประเมินสถานการณ์ และสนับสนุนอุปกรณ์ ป้องกันตัวและย้ำให้ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน


ส่วนท่าทีฝ่ายการเมือง โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์เมื่อคืน โดยระบุว่าการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน ซึ่งบางคนมีอายุเพียง 14 ปี นั้น อยากให้รัฐตระหนัก และขอเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)ไว้ด้วย อีกทั้งระบุว่า นายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน ก.ตร. ผู้กำกับสั่งการ ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย เสนอให้เปิดเวทีพูดคุยกันอย่างปลอดภัย โดยอาจจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยเป็นคนกลาง เพื่อหาทางออก และ อย่าเติมไฟลงไปอีก เพื่อหาทางออกได้อย่างสันติ

คุณอาจสนใจ