เกมแก้รัฐธรรมนูญ ทางออก หรือ ทางตัน?

เลือกตั้งและการเมือง

เกมแก้รัฐธรรมนูญ ทางออก หรือ ทางตัน?

โดย pattraporn_a

12 มี.ค. 2564

82 views

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่ารัฐสภาสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็มีปัญหาใหม่ขึ้นมา คือ รัฐสภาจะเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้หรือไม่


รัฐสภาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติ 2 รอบ


ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก คือ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า "รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติให้ควเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง"


ทำให้มีการตีความคำวินิจฉัยดังกล่าวออกไปแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องช่วงเวลาในการทำประชามติครั้งแรก จะต้องทำเมื่อใด และรัฐสภาจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ที่กำหนดไว้ในวันที่ 17 มีนาคม นี้ ได้หรือไม่


ขณะนี้มีความเห็นแยกเป็น 3 ทาง คือ


1.ไปต่อวาระ 3 ไม่ได้

ผู้ที่มีแนวคิดนี้ ได้แก่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ซึ่งเป็นผู้ร้องเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เห็นว่าต้องทำประชามติตั้งแต่ก่อนรัฐสภาเริ่มพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 จึงไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ เพราะเลยขั้นตอนทำประชามติตามที่ศาลฯวินิจฉัย ที่ทั้งสองเห็นว่าต้องทำประชามติมาตั้งแต่ก่อนรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 และเห็นว่าขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 และ 2 น่าจะเป็นโมฆะไปแล้ว


รวมถึงประธานวิปรัฐบาล คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ จากพรรคพลังประชารัฐ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามวิปรัฐบาลจะหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 15 มี.ค.


2.ไปวาระ 3 ต่อได้

ผู้ที่เห็นแบบนี้คือกลุ่มนักวิชาการจากหลายสถาบัน จากนั้นไปทำประชามติ เช่น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากจุฬาลงกรณ์ฯ และ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัย


โดยเห็นว่าสามารถทำประชามติหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ยุทธพร เห็นว่า ช่วงเวลาในการทำประชามติ ก็อาจจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐสภาก็ว่าจะให้ทำก่อนหรือหลังผ่านวาระ 3 แต่ถ้าทำก่อนผ่านวาระ 3 จะกลายเป็นว่าต้องทำ 3 ครั้ง ซึ่งจะมากเกินไป


3.ไปวาระ 3 ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน

นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่า จะต้องมีการทำประชามติก่อนไปสู่วาระที่ 3 เพราะถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว แต่ยังทำไม่สำเร็จ แต่หากผ่านวาระ 3 คือให้ความเห็นชอบแล้ว จะถือว่ากระบวนการสำเร็จแล้ว


การทำประชามติก็จะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องทำก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ชวน บรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญแล้ว


อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมฝ่ายกฎหมายของสภาว่า หลังฝ่ายกฎหมายสภาพิจารณาอย่างละเอียดเห็นว่ารัฐสภาสามารถเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้ ได้บรรจุระเบียบวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม เรียบร้อยแล้ว


วาระ 3 กับ 2 ทางไป


มีการวิเคราะห์ว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 17 มีนาคม น่าจะออกได้ 2 ทาง คือ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อนลงมติว่ารัฐสภาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือ ลงมติในวาระที่ 3 ไปเลย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมี ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 84 คนให้ความเห็นชอบอยู่แล้ว ซึ่งการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ตกไป ก็จะยุติความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้


ดังเช่นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มองว่า รัฐสภาสามารถเดินหน้าพิจารณาวาระที่ 3 ได้ และหากไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 ปัญหาก็จะจบ แต่หากผ่านวาระ 3 ไปได้จะเดินต่อยาก "ผมรับรองว่าจะมีคนเลี้ยวไปศาลรัฐธรรมนูญอีก"


ต้องรอดูว่าสุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญยกนี้จะจบลงอย่างไร จะจบแบบที่เป็นทางออกให้กับสถานการณ์การเมือง หรือจบแบบเดินสู่ทางตัน!

คุณอาจสนใจ

Related News