ลุ้นศาล รธน.ลงมติปมแก้รัฐธรรมนูญ – 'อ.ปริญญา' วิเคราะห์ 3 แนวทาง ห่วงศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

เลือกตั้งและการเมือง

ลุ้นศาล รธน.ลงมติปมแก้รัฐธรรมนูญ – 'อ.ปริญญา' วิเคราะห์ 3 แนวทาง ห่วงศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง

โดย thichaphat_d

11 มี.ค. 2564

98 views

ลุ้นวันนี้ (11 มีนาคม 2564) แก้รัฐธรรมนูญ ได้ไปต่อหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะลงมติปมแก้รัฐธรรมนูญ เวลา 09.30 น. โดยนัดประชุมคณะตุลาการ เพื่อแถลงด้วยวาจาเป็นการภายใน ก่อนลงมติปมอำนาจรัฐสภา เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่มีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย และหลังจากได้ผลการพิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งรายละเอียดของการพิจารณาและมติเป็นเอกสารข่าวแจกให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ


ทั้งนี้มีพระบรมราชโองการตรา พระราชกฤษฎีกา ให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ


โดยรัฐสภาเตรียมบรรจุวาระลงมติ ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในวันที่ 17 -18 มีนาคมนี้ หากในวันพรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้


นอกจากนี้เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เพื่อเข้าสู่การพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระที่สอง และการลงมติให้ความเห็นชอบทั้งฉบับในวาระที่สามด้วย


ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์รายการใต้เตียงการเมือง รายการออนไลน์ของเพจข่าวช่อง 3 Ch3ThailandNews ถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี 3 แนว คือ


1. ศาลเห็นว่ากรณีนี้ยังไม่เป็นปัญหา รัฐสภาสามารถแก้ไขเองได้ ส่งเรื่องกลับให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป


2.เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้เนื่องจากที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง คือ


ตอนแก้ไขเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 และ ฉบับปี 2540 ซึ่งก็ไม่ขัดกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่ระบุว่าหากจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับให้ทำประชามติก่อน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาตอนนี้เป็นเพียงการตั้งเรื่องขึ้นมา หากผ่านสภาก็ต้องไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั่นคือ ผู้ตัดสินใจว่าจะให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็คือ ประชาชน

3. รัฐสภา ไม่มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาตกไปทั้งหมด และในอนาคตก็จะไม่สามารถทำได้

อาจารย์ปริญญา มองว่าแนวทางที่หนึ่งหรือแนวทางที่สองจะเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นบวกต่อสถานการณ์การเมือง แต่หากเป็นแนวทางที่สาม อาจจะทำให้สถานการณ์การเมืองเดินไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น ซึ่งเกรงว่าจะซ้ำรอยรัฐธรรมนูญ รสช.ปี 2534 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นคนร่างเหมือนกัน ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา 2535


"ที่สำคัญจะกลายเป็นฝ่ายตุลาการยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ แต่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย"


ทั้งนี้อาจารย์ปริญญา มองว่ารัฐบาลกำลังใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะหากรัฐธรรมนูญตกเพราะการโหวตในสภา จะมีแรงกดดันไปที่พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ให้ถอนตัวออกจากรัฐบาล เพราะเหตุผลหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาลคือ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/EcTW97GN_Vw

คุณอาจสนใจ

Related News