นักวิชาการจัดเสวนา หาแนวทางปลดวงจรหนี้เกษตรกร

สังคม

นักวิชาการจัดเสวนา หาแนวทางปลดวงจรหนี้เกษตรกร

โดย sujira_s

28 ก.พ. 2564

58 views

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก ทำให้เกษตรกรเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดรายได้ จนกลายเป็นหนี้สิน หรือ ไม่สามารถชำระหนี้เดิมที่มีอยู่ได้ ทางมูลนิธิชีวิตไท จึงได้จัดงานเสวนาขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิจัยไทย ร่วมแก้ปัญหานี้ด้วยกัน โดยดึงหน่วยงานภาครัฐเข้าสนับสนุน หลังที่ผ่านมามีเกษตรกรที่ปลดหนี้ได้จนสร้างรายได้ในปัจจุบันเกือบแสนบาทต่อเดือน ติดตามกับคุณธีรุตม์ นิมโรธรรม


ปัญหาวงจรหนี้คือสิ่งที่นักวิจัยบนเวทีเสวนาในประเด็น ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19 พบเจอจากการทำวิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยเหมือนกันแทบทุกครัวเรือน โดยเริ่มจากการเป็นหนี้ กู้ยืมซ้ำ และกลับมาเป็นหนี้ใหม่แบบไม่จบสิ้น


ผลสำรวจสุขภาพการเงินของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วยอึ๊งภากรณ์ พบว่าในช่วงเพียง 1 เดือนระหว่างมีนาคมถึงเมษายน 2563 ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก พบครัวเรือนชาวนามีภาวะหนี้สินสูง เฉลี่ย 3.4 ก้อน และมีหนี้ค้างเฉลี่ย กว่า 4 แสนบาทต่อครัวเรือน และ กว่าครึ่งมีหนี้ค้างเกิน 3 แสนบาท ขณะที่อีก 30% มีหนี้สินคงค้างเกิน 6 แสนบาท 


ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส ตามมาด้วยหนี้นอกระบบ รวมทั้งการกู้ยืมจากสหกรณ์และกองทุนหมู่บ้าน โดยจากวิกฤตโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทำให้กว่า 60% เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้


มูลนิธิชีวิตไทย จึงได้นำวิธีคิดใหม่นำมาบริหารจัดการหนี้ให้กับเกษตรกร โดยเริ่มจากการหยุดวงจรหนี้ ไม่กู้เพิ่ม เพื่อสร้างเงินออม ผ่านความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รวมทั้งสร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน สร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต


พรเพ็ญ บุตตาธรรม หรือ แม่พร เกษตรกรบ้านดงมะกรูด ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี ที่เคยยึดอาชีพปลูกกุหลาบ และ ผักสวนครัว รวมทั้งทำนา มานานกว่า 27 ปี รวมแล้วกว่า 100 ไร่ ขณะเดียวกันก็เป็นหนี้รวมกว่า 6 แสนบาท จากต้นทุนทางการเกษตร และคิดว่าจะสามารถทำงานรับจ้างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ตรงจุดนี้ 


ปัจจุบันเธอได้หันมาเลี้ยงปูนาเพื่อตัดวงจรหนี้โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี 1 เดือนเท่านั้น ก็สามารถปลดหนี้ก้อนแรกของ ธกส.ได้ รวมทั้งหนี้อื่นๆ รวมกว่าล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเธอได้นำผลผลิตปูนามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ปูนาไข่เค็ม ปูดอง น้ำพริกปูนา สร้างรายได้เฉลี่ยเกือบแสนบาทต่อเดือน ผ่านช่องทางออนไลน์และการส่งออก โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาเป็นหนี้อีก


อย่างไรก็ตามเวทีเสวนามองว่าหน่วยงานภาครัฐควรมีส่วนช่วยสนับสนุนในทุกมิติ ซึ่งล่าสุดสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ออกนโยบายสนับสนุนการตัดวงจรหนี้ให้เกษตรกร


สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ผ่านเฟซบุ๊ก มูลนิธิชีวิตไท Local act หรือ ที่เบอร์ติดต่อ 020-485-465 เพื่อรับคำแนะนำเข้าสู่กระบวนการหยุดวงจรหนี้ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ปลดหนี้ ,เกษตรกร

คุณอาจสนใจ

Related News