กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน 'Thailand-Japan Student Science Fair 2020' แบบออนไลน์

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน 'Thailand-Japan Student Science Fair 2020' แบบออนไลน์

โดย weerawit_c

25 ก.พ. 2564

39 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 แบบออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ถ่ายทอดสดจากวังสระปทุม กรุงเทพมหานคร ไปยังโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 ระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 กุมภาพันธ์นี้ 



เพื่อเปิดโอกาส ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และศิลปวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และทำกิจกรรมภายใต้แนวคิด “Seeding Innovation through Fostering Thailand-Japan Youth Friendship” “การบ่มเพาะนวัตกรรมผ่านมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างเยาวชนไทยและญี่ปุ่น” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพื่อเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู และนักเรียน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น จำนวน 53 โรงเรียน ได้แก่ สถาบันโคเซ็น 7 แห่ง, โรงเรียน Super Science High School 17 แห่ง, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ของไทย 29 แห่ง 



มีกิจกรรมหลัก คือ การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ 124 โครงงาน และมีกิจกรรมทางวิชาการ อาทิ กิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผ่านระบบออนไลน์ ณ หาดราชมงคล, หาดปากเมง, เกาะลิบง, อ่าวขาม จังหวัดตรัง และกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เป็นการศึกษาดูงานเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถานที่หลักรับสัญญาณออนไลน์จากที่ต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานทั้ง 2 ประเทศได้รับชม



โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสเปิดงาน และทอดพระเนตรพิธีเปิดแบบออนไลน์ , การแนะนำโรงเรียนที่ร่วมเสนอผลงาน และทรงฟังการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ ทากะอะกิ คาจิตะ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2015 เรื่อง สมบัติของการแกว่งกวัดนิวตริโน การวิจัยค้นพบว่า อนุภาคนิวตริโนมีสมบัติที่สามารถเปลี่ยนชนิดของอนุภาคนิวตริโนชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ ทำให้ทราบว่านิวตริโนมีมวล ที่ส่งผลให้เกิดความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ , ทีมนักวิจัย และองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือกัน สร้างเครื่องตรวจวัดใหม่ เรียกว่า Super Kamiokande หรือ Super K , นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นิวตริโนเป็นกุญแจสำคัญ ในการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับอนุภาคมูลฐาน และจุดกำเนิดของจักรวาล



ต่อจากนั้น ได้ทอดพระเนตรการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 2 โครงงาน ได้แก่ โครงงานสาขาฟิสิกส์ เรื่องปรากฏการณ์ของการปรับปรุงลักษณะดาวเทียมกระป๋อง มุ่งเน้นที่การทดลองการบิน ของ Tokyo Tech High School of Science and Technology ประเทศญี่ปุ่น เป็นการศึกษาการลดระดับความสูงของดาวเทียม Cansat ทำให้เกิดปรากฏการณ์ CMP-Convergence ซึ่งเป็นผลมาจากไจโรสโคปที่ติดมากับดาวเทียม ส่วนโครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องแบบจำลองการเพิ่มอัตราการไหล ด้วยสมการเฮลิคอยด์ สำหรับการลำเลียงลิ่มเลือดในการรักษาทางการแพทย์ ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี 



จากการวิจัยพบว่าเกลียวเฮลิคอยด์ทรงพาราโบรอยด์ สามารถเพิ่มอัตราการไหลของการลำเลียงลิ่มเลือด ในทางการแพทย์ได้ดีกว่าทรงกรวย และทรงกระบอก การจัดงานครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญช่วยให้นักเรียน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านการศึกษา อีกทั้งช่วยให้นักเรียนได้สร้างเครือข่ายมิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน