เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จับสัญญาณล้มกระดานหรือไม่?

เลือกตั้งและการเมือง

เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จับสัญญาณล้มกระดานหรือไม่?

โดย weerawit_c

7 ก.พ. 2564

211 views

ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล่าสุดกรรมาธิการได้พิจารณาแก้ไขเสร็จแล้ว เตรียมวาระนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณารายมาตร ในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. นี้



สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซี่งเป็นเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญที่มีการแก้ไข ดังนี้


•กำหนดให้การลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 1 ของรัฐสภา ต้องมีคะแนนเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือไม่น้อยกว่า 500 คน จะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. กี่คนก็ได้ จากเดิมต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และต้องมี เสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก


•การลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเช่นกัน จากเดิมนอกจากต้องใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภาแล้ว มีเงื่อนไขที่ต้องมีเสียงเห็นชอบจากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% และต้องมี เสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย 


ส่วนประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มีการกำหนดเงื่อนไข ดังนี้


•ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งหมด โดยมีคุณสมบัติต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ ส.ส.


•การเลือกตั้ง สมาชิก ส.ส.ร. ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เทียบตามสัดส่วนประชาชน


•ให้ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน


•ให้ ส.ส.ร.ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยแต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร.


•การยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไม่มีการแก้ไขหมวด1 และหมวด2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 


•เมื่อ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้รัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็น ภายใน 30 วันก่อน ส่งให้ กกต. จัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป 


อย่างไรก็ตามในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุเหตผลของความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจากบทบัญญัติหลายมาตรายังไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและบริบทของสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระบวนการการได้มาซึ่งองค์กรต่าง ๆ ในสถาบันทางการเมือง การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเข้าใจหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม




















อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังมีญัตติ ของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ที่ยื่นต่อรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเข้าข่ายเป็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น


ล่าสุดรัฐสภา ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ในวันอังคาร ที่ 9 ก.พ.นี้ หากท้ายที่สุดรัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากขีดรัฐธรรมนูญจริง กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ได้



ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

ทีมข่าวการเมือง

คุณอาจสนใจ

Related News