ท่าทีนานาชาติต่อรัฐประหารเมียนมา สหรัฐฯทบทวนมาตรการคว่ำบาตร เรียกร้องปล่อย 'อองซานซูจี'

ต่างประเทศ

ท่าทีนานาชาติต่อรัฐประหารเมียนมา สหรัฐฯทบทวนมาตรการคว่ำบาตร เรียกร้องปล่อย 'อองซานซูจี'

โดย passamon_a

3 ก.พ. 2564

20 views

วันที่ 2 ก.พ. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี รวมถึงนานาชาติ เรียกร้องให้กองทัพของเมียนมา ปล่อยตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่ถูกจับกุมตัวไปเมื่อวานนี้ หลังมีการก่อรัฐประหาร ขณะที่ธนาคารโลกชี้ว่าการก่อรัฐประหารครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา


จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถูกจับกุมตัวไว้ที่ใด แต่สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของโฆษกพรรคเอ็นเอลดี ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นางซูจี และประธานาธิบดี มิน วินต์ ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เช่นเดียวกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลคนอื่น ๆ 


ขณะที่บรรยากาศทั่วไปในวันนี้ ทั้งในกรุงเนปิดอว์ และนครย่างกุ้ง ยังคงเป็นไปตามปกติ แต่ท้องถนนค่อนข้างเงียบสงบตั้งแต่ช่วงเย็นของวันจันทร์ จนถึงช่วงเช้าวันนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีภาพของรถตำรวจและทหาร จอดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในนครย่างกุ้ง เพื่อดูแลความเรียบร้อย 


ส่วนระบบสื่อสารที่ถูกตัดไปเมื่อวานนี้ ก็เริ่มกลับมาใช้งานได้อีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต 


ขณะที่ต่างชาติ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา คืนอำนาจโดยทันที พร้อมสั่งทบทวนพิจารณามาตรการคว่ำบาตรอีกครั้ง แถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพไม่ควรล้มล้างความต้องการของประชาชน หรือพยายามลบล้างผลการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ


ทั้งนี้ เมียนมา เคยโดนสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่หลังจากที่มีการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐทหารเป็นรัฐบาลพลเรือน โดยผ่านการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย ก็เริ่มค่อย ๆ มีการผ่อนคลาย


อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด แต่นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า รัฐประหารครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในตอนนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในเมียนมามากที่สุดถึง 34% ตามมาด้วยฮ่องกง 26% 


ส่วนธนาคารโลก ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง ความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในเมียนมา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่และหุ้นส่วนทางธุรกิจ พร้อมกับย้ำว่าธนาคารโลกยึดมั่นและสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจตามแนวทางประชาธิปไตยของเมียนมา มาตลอด 10 ปี ด้วยหวังว่า จะเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้


ขณะที่ญี่ปุ่น มีผู้ชุมนุมหลายร้อยคน มารวมตัวกันที่หน้ามหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nations) ในกรุงโตเกียว เพื่อประท้วงการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวนางซูจี และบุคคลสำคัญทางการเมืองคนอื่น ๆ ด้วย 


นอกจากนี้ นาย สเตฟาน ดูจาร์ริก (Stephane Dujarric) โฆษกสหประชาชาติ แสดงความวิตกกังวลว่าการทำรัฐประหาร อาจทำให้สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาเลวร้ายมากขึ้น โดยระบุว่า ปัจจุบันยังมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประมาณ 6 แสนคน โดยมี 1 แสน 2 หมื่นคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ และเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษา

คุณอาจสนใจ

Related News