นานาชาติกดดันกองทัพเมียนมา ประณามการยึดอำนาจ พร้อมขู่คว่ำบาตร

ต่างประเทศ

นานาชาติกดดันกองทัพเมียนมา ประณามการยึดอำนาจ พร้อมขู่คว่ำบาตร

โดย pattraporn_a

2 ก.พ. 2564

117 views

นานาชาติเดินหน้ากดดันกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขู่จะคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง หลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ และควบคุมตัว นาง ออง ซาน ซูจี และบุคคลสำคัญของคณะรัฐบาล รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวานนี้


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ กองทัพเมียนมา คืนอำนาจโดยทันที พร้อมสั่งทบทวนมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน สหรัฐฯได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หลังกองทัพเมียนมา ยอมถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือน โดยผ่านการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย


ขณะที่สหประชาชาติ ได้ออกมาประณามการยึดอำนาจในเมียนมา ส่วนคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เตรียมหารือสถานการณ์เมียนมาในวันนี้


ขณะที่ความเคลื่อนไหวในเมียนมา หลังจากที่ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลและควบคุมประเทศเป็นเวลา 1 ปี ได้ให้คำมั่นว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ในอีก 1 ปีข้างหน้า แต่ยังไม่แผนกำหนดการเลือกตั้ง รวมไปถึงวันเลือกตั้งที่แน่ชัด ขณะที่มินต์ ส่วย รักษาการณ์ประธานาธิบดีเมียนมาก็ได้เดินทางเข้าพบบรรดาผู้บัญชาการทหารระดับสูง รวมถึงพลเอกมิน อ่อง หล่าย


เมื่อวานนี้กองทัพยังได้ปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย 24 คนในรัฐบาลของอ่องซาน ซูจี และแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ 11 คนด้วย


ขณะที่นาง ออง ซาน ซูจี , ประธานาธิบดีวิน มยิน ,คณะรัฐมนตรี ไปจนถึง แกนนำพรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวที่บ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมื่อเช้าตรู่วานนี้ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่า ถูกนำไปสถานที่กักตัวที่ใด แต่เชื่อว่า ยังอยู่ในกรุงเนปิดอว์


ขณะที่บรรยากาศในนครย่างกุ้ง เช้าวันนี้ เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ผู้คนและรถยนต์บางตา และพบว่า ยังมีทหารบางส่วน ลาดตระเวนตามท้องถนน ในวันนี้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แต่สนามบินในนครย่างกุ้งยังไม่เปิดใช้งาน ขณะที่ธนาคารกลับมาให้บริการตามปกติ หลังปิดไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากประชาชนแห่ถอนเงิน


ขณะที่ชาวเมียนมาในนครย่างกุ้งก็มีทั้งสนับสนุนและคัดค้านการรัฐประหาร โดยผู้ที่เห็นด้วยได้พากันขับรถไปตามท้องถนน และโบกธงชาติเมียนมา ขณะที่อีกหลายคนไม่มั่นใจว่า ทุกอย่างจะสู่ภาวะปกติใน 1 ปี แต่สิ่งที่จะยุติปัญหาได้คือ ประชาชนต้องมีความเป็นเอกภาพ บางคนบอกว่า ตอนนี้ก็มีปัญหามากพออยู่แล้วทั้งโควิด นายน์ทีน และยังมาเจอรัฐประหารอีก


หลายคนเฝ้าจับตาว่า นับต่อจากนี้ไปเส้นทางการเมืองของอ่องซาน ซูจี ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา จะเป็นไปในทิศทางใด และจะได้กลับมาสู่กระบวนการเลือกตั้งอีกหรือไม่


ซูจี เคยถูกกักตัวในบ้านพักมาเป็นเวลา 15 ปี และเพิ่งได้รับอิสระภาพเมื่อปี 2010 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จากนั้น 5 ปีต่อมาหลังได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลทหารเมียนมาก็ยอมยุติการบริหารประเทศ และให้จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีตามแนวทางประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย

คุณอาจสนใจ

Related News