สำรวจปัญหา ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

สังคม

สำรวจปัญหา ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โดย

1 ม.ค. 544

352 views

ปัญหาของชาวบ้านบางกลอย ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ยืดเยื้อมากว่า 25 ปี หลังมีการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอพยพชาวบ้าน จากบริเวณบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ที่อยู่เดิมลงมาที่บ้านบางกลอย มีการอนุญาตให้สร้างที่พักและมีที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาจากหลายหน่วยงาน 
ซึ่งล่าสุด ชาวบ้านบางกลอย ประมาณ 57 คน ในจำนวนนั้นมีหญิงท้องและเด็กด้วย ได้อพยพกลับไปที่ใจแผ่นดิน เนื่องจากที่ทำกินไม่เพียงพอ ได้รับผลกระทบขาดอาหาร ขาดรายได้ จากสถานการณ์โควิด และต้องการยืนยันในสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่พิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
บ้านของนายหน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง อยู่ในสภาพทรุดโทรม หลังคาผุขาด พื้นไม้ไผ่ ก็แตกหัก ข้าวของเครื่องใช้ ไม่มีอะไรเลย นอกจากตะกร้าไม้ไผ่ กระบอกไม้ไผ่ ที่หน่อแอะ บอกว่า เขาได้เก็บลงมาจากบ้านที่ใจแผ่นดิน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และไม่คิดจะซ่อมแซมบ้านหลังนี้ที่บ้านบางกลอย เพราะคาดหวังเสมอที่จะได้กลับไปบ้านเกิดที่ใจแผ่นดิน
นายหน่อแอะ เป็นหนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่กลับขึ้นไปอาศัยและทำกินที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554 และถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมตัว รวมทั้งเผาทำลายบ้านพัก จนกลายเป็นคดีที่ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ส่วนนายหน่อแอะ ถูกจำคุก 4 วันที่เรือนจำเพชรบุรี นายหน่อแอะ จึงไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จากการที่ชาวบางกลอยได้กลับไปที่ใจแผ่นดินอีกในปีนี้ คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะพูดคุยเจรจาหาทางออกด้วยการยอมรับในสิทธิชุมชนดั้งเดิม ที่ชาวบ้านพร้อมจะใช้หลักฐานพิสูจน์ทราบว่าอาศัยมาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยาน
นายอภิสิทธิ เจริญสุข เป็นหนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่อพยพลงมาเมื่อปี 2539 ได้ทราบข่าวจากเพื่อนบ้านว่าขณะนี้ได้ขึ้นไปที่ใจแผ่นดินแล้ว 57 คน จากการสอบถามพวกเขาตัดสินใจขึ้นไปเอง ไม่ได้มีใครชักจูง เหตุผลสำคัญเพราะชาวบ้านขาดที่ทำกิน และพิสูจน์แล้วว่า 25 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ทำกิน หรือการเกษตรที่รัฐส่งเสริม ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ใช้ชีวิตกับการทำไร่เลื่อนลอย และจากสถานการณ์โควิด-19 แม้รัฐจะส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ได้สร้างรายได้ให้กับบางกลุ่ม เมื่อต้องปิดหมู่บ้าน ชาวบ้านขาดรายได้ ขาดข้าว ขาดอาหาร ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่า สิ่งสำคัญของการมีชีวิตรอดคือ ความมั่นคงทางอาหาร ที่ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละชาติพันธุ์ ชาวบ้านไม่ปฏิเสธการรักษาป่าที่เปรียบเหมือนบ้าน และการมีสัตว์ป่าเช่นเสือ จระเข้ เป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ แต่อยากให้รัฐ เห็นคุณค่าของชีวิตคน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันว่า ที่ผ่านมา อุทยานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาพื้นที่บ้านบางกลอย นับตั้งแต่อพยพมาเมื่อปี 2539 จำนวน 57 ครอบครัว ซึ่งสภาพพื้นที่บ้านบางกลอย ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านโป่งลึก ที่เป็นชุมชนเดิม มีแม่น้ำเพชรบุรีกั้นสองฝั่ง มีสะพานแขวนเชื่อมสองหมู่บ้าน ชาวบ้านบางกลอย จะได้สร้างบ้านในพื้นที่สร้างที่พักอาศัย และได้สิทธิ์ทำกินในที่ดินที่จะแบ่งให้ครอบครัวละ 7 ไร่ 
ที่บ้านโป่งลึกมีโรงเรียน ตชด.โป่งลึกที่ให้การศึกษากับเด็กๆมาตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 200 คน มีโครงการอาหารกลางวัน การปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเด็กและครอบครัวด้วย การพัฒนาต่างๆจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ มีโครงการโซล่าเซลล์ สูบน้ำ และระบบไฟฟ้าให้ชาวบ้าน 
ช่วงก่อนโควิดทางอุทยานได้เปิดให้มีการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ปีละประมาณ 1 ล้านบาท มีร้านกาแฟชุมชุม มีการล่องแพ ในแม่น้ำเพชร ส่วนที่ดินทำกิน เจ้าหน้าที่อุทยานได้พาสำรวจพื้นที่ทำกิน ของชาวบ้านบางกลอย ที่บางส่วนได้ทำนา เมื่อเก็บผลผลิตก็จะปลูกข้าวโพด แต่ไม่ได้ผล บางส่วนจึงหันมาปลูกกล้วยขั้นบันได และปลูกทุเรียน ที่ยอมรับว่าได้ผลผลิตและรายได้ดี แต่ต้องมีความรู้ในการทำเกษตร และต้องมีต้นทุนในการซื้อปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
ตัวแทนชาวบ้านที่อพยพไปใจแผ่นดิน บอกว่าชาวบ้านยังต้องการทำการเกษตรตามวิถีชีวิต และเป็นการรักษาสิทธิการเป็นชุมชนดั้งเดิมก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และจะไม่กลับลงมาอย่างแน่นอนในขณะที่อุทยาน แต่พร้อมเจรจา ยืนยัน จะดำเนินการตามกฏหมาย ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จึงกลับมามีความท้าทายอีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ