สุดทน! เกษตรกรนับร้อยร้องสื่อ น้ำแล้งซ้ำซากหลายปี ไร้หน่วยงานมาเหลียวแล

สังคม

สุดทน! เกษตรกรนับร้อยร้องสื่อ น้ำแล้งซ้ำซากหลายปี ไร้หน่วยงานมาเหลียวแล

โดย

25 ม.ค. 2564

1.3K views

สมุทรปราการ - ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายถนอม ยังเจริญ เกษตรกร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ว่าจะมีการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร ชาวนา กลุ่มผู้ทำบ่อปลา บ่อกุ้ง กว่าร้อยคน ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ใกล้กับวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
หลังรับแจ้งผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังจุดเกิดเหตุ ตั้งอยู่บริเวณถนนทางหลวงชนบท ฉช.3001 สายแยกทางหลวงหมายเลข 314 ถนนอ่อนนุช-เทพราช ห่างจาก 4 แยกคลองกาหลง ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ประมาณ 300 เมตร ทางที่จะมุ่งหน้าไปถนนสุวินทวงศ์ กรุงเทพฯ เมื่อไปถึงพบเป็นประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ มีบานเปิด-ปิด ขนาดประมาณ 6 เมตร จำนวน 4 บาน ขณะไปถึงประตูทั้งหมดปิดอยู่ พบกับกลุ่มเกษตรกรจำนวนกว่าร้อยคน กำลังมองน้ำที่ไหลอยู่หน้าประตูระบายน้ำ บางส่วนจับกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของหน่วยงานชลประทาน เมื่อพบกับผู้สื่อข่าว กลุ่มเกษตรกรได้เข้ามาพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ นา ๆ 
นายถนอม ยังเจริญ เกษตรกร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา หลังสิ้นฤดูฝน ปริมาณน้ำในคลองที่เชื่อมต่อกับคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต มีประมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกษตรกรกลุ่มทำนาข้าว บ่อปลา บ่อกุ้ง ได้รับผลกระทบจากการไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ในคลอง เพื่อทำการเกษตรและประมง จึงได้รวมตัวกันไปสอบถามและขอคำชี้แจงจากโครงการชลประทานพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยได้รับคำตอบว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำ มีการระบายออกสู่ทะเลเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ส่วนหนึ่งและได้มีการผันน้ำไปพักไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี เพื่อใช้ทำน้ำประปา สำหรับอุปโภคบริโภค อีกส่วนหนึ่ง และจะหยุดทำการระบายทั้งสองส่วนในวันที่ 1 ธ.ค.2563 แต่เมื่อก่อนที่จะหยุดการระบายน้ำฯ โครงการชลประทานพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไม่ได้มีการปิดประตูระบายน้ำ ตามลำคลองต่าง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกร ไว้ใช้สำหรับทำการเกษตร และเกษตรกร ที่อยู่ในเขตุชลประทาน ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และ จ.ฉะเชิงเทรา 
ส่วนใหญ่จะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ ทำการเกษตร ต้องพึ่งพิงน้ำจากคลองชลประทานเท่านั้น ส่งผลทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2562-2563 เกษตรกร ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหาย เป็นหนี้สินจำนวนมาก มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จำนวน 94,643 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย กว่า 425 ล้านบาท ใน 2 จังหวัด และวันนี้กลุ่มเกษตรกรได้พากันมาดูที่ประตูระบายน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ พบว่าเครื่องผลักดันน้ำซึ่งมีทั้งหมด 4 เครื่อง แต่เปิดใช้งานอยู่เพียง 1 เครื่อง ส่งผลทำให้ไม่มีกำลังในการผลักดันน้ำ เข้าไปในคลองต่าง ๆ เพราะโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ ฝั่งน้ำแล้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ดอนอยู่สูงกว่าประตูระบายน้ำ ต้องใช้เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 2 เครื่องผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมง ถึงจะตอบโจทย์ได้ 
ก่อนหน้านี้ ประมาณต้นเดือนและกลางเดือนธันวาคม 2563 ตัวแทนเกษตรกร ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอำเภอบางบ่อ และโครงการประตูระบายน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงได้มีการไปยื่นเรื่องที่กรมชลประทานสำนักงานใหญ่สามเสนแล้ว แต่ทุกอย่างก็เงียบ ไม่ได้รับการแก้ไข แต่อย่างใด วันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก น้ำไม่มีทำการเกษตร แถมค่าความเค็มของน้ำที่วัดได้ตามแปลงนา ตอนนี้อยู่ในระดับ 3-5 ppt ซึ่งเป็นค่าความเค็มที่เกินมาตรฐานไปมากแล้ว โดยค่าปกติอยู่ที่ 0.5 ppt
กลุ่มเกษตรกร จึงรวมตัวกันมาร้องกับสื่อมวลชน ขอให้ช่วยเป็นกระบอกเสียง ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ด่วน ตอนนี้ข้าวในนาเริ่มตั้งท้องแล้ว ถ้าขาดน้ำ ต้องเสียหายอย่างหนัก เหมือนในหลายปีที่ผ่านมา หนี้สินเก่า ๆ ก็ยังใช้ไม่หมดเลย..จากนั้นได้พาสื่อมวลชน ไปดูคลองที่น้ำแห้ง มีน้ำเหลือคาคลองบางส่วนเล็กน้อยและได้รวมตัวกัน นำต้นข้าว ต้นกล้วย พามาหาน้ำ นำมาปลูกกลางลำคลอง บางส่วนก็ลงไปนอนรอน้ำอยู่กลางลำคลอง เพราะไม่รู้จะแสดงออกอย่างไรแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ