'คมนาคม' จี้ กทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลายฝ่ายรุมอัด 104 บาท แพงเกิน มองให้ลึกเห็นอะไร

เศรษฐกิจ

'คมนาคม' จี้ กทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลายฝ่ายรุมอัด 104 บาท แพงเกิน มองให้ลึกเห็นอะไร

โดย

17 ม.ค. 2564

438 views

กรณีกรุงเทพมหานคร มีประกาศปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่ม 15 บาท และสูงสุดถึง 104 บาท ตลอดสาย เริ่มวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ล่าสุด คมนาคม เรียกร้องให้ กทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสาร 
กระทรวงคมนาคม ขอเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร ชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียว จนกว่าจะได้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย และหาหนทางอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ บริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้บริการ
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัคร กทม. โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า "เมื่อวานช่วงบ่ายมีเวลาว่าง เลยถือโอกาสไปนั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวเล่น นั่งจากหมอชิต ไปถึงพหลโยธิน 24 ลงไปเดินเล่น คุยกับพี่วินมอเตอร์ไซค์ แล้วนั่่งกลับมา แวะซื้อขนมที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และนั่งกลับมาที่หมอชิต เพราะตอนนี้ทาง กทม. ยังให้ขึ้น "ฟรี" อยู่ ไม่ต้องเสียค่าโดยสารตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าวเป็นต้นไป
รถไฟสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีสองส่วน ส่วนเหนือ จากหมอชิต(หรือจตุจักร) ไปคูคต และส่วนใต้จากบางจากไป เคหะฯสมุทรปราการ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้เดิมทาง รฟม.ของกระทรวงคมนาคมเป็นคนสร้าง แต่ครม.มีมติโอนให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
ทาง กทม.ก็ทยอยเปิดการเดินรถไฟตามสถานีต่าง ๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2561 และให้ประชาชนนั่ง "ฟรี" โดยไม่เก็บค่าโดยสาร แต่ กทม. ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถให้ทางเอกชนตลอด เพราะเอกชนเขามีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ (ส่วนรายละเอียดว่าค่าจ้างเป็นอย่างไร สัญญาจ้างเป็นอย่างไร หาไม่ได้จริง ๆ ครับ) 
เมื่อเช้ามีข่าวว่า ค่าจ้างสำหรับการเดินรถให้ประชาชนนั่ง "ฟรี" ตอนนี้มียอดหนี้ที่ กทม. ค้างชำระถึงเก้าพันล้านบาทแล้ว และก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย เห็นว่าจะไปขอจากทางรัฐบาลให้ช่วยออกให้ (แต่สุดท้ายก็เงินพวกเราทั้งนั้นแหละครับ) ซึ่งก็อาจจะไม่ง่าย เพราะจ้างไปก่อนแล้ว และเท่าที่ดูมติ ครม. เมื่อปี 2561 มีแต่เรื่องโอนรถไฟฟ้า แต่ไม่มีระบุว่า กทม. ไม่ต้องเก็บค่าโดยสาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกสำหรับการบริหารว่า สามารถจ้างไปก่อนเกือบหมื่นล้านบาทโดยยังไม่รู้ว่าจะเอางบประมาณที่ไหนจ่าย
ถ้าพวกเรามีโอกาสต้องไปแถวนั้น ทั้งหมอชิต หรือ อ่อนนุช ก็ไปนั่งรถไฟฟ้า "ฟรี" กันนะครับ เพราะเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียวก็จะเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายแล้วและสุดท้ายแล้วพวกเราต้องร่วมกันจ่ายเกือบหมื่นล้านบาทอยู่ดีครับ"
ด้าน นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระบุว่า ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกมตบตาประชาชนหรือหวังฮุบสัมปทาน 30 ปี
เห็นประกาศค่าโดยสารใหม่รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ลงนามโดย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. กำหนดราคา 104 บาทตลอดสาย และยังพูดเอาบุญคุณ ว่าลดราคาลงแล้วจากเดิม ต้องเก็บ 158 บาทแล้ว ผมคิดว่าเราควรเลือกตั้งผู้ว่ากทม.คนใหม่โดยเร็วที่สุดเสียที เพราะตั้งแต่พลเอกอัศวิน เป็นผู้ว่า กทม. มา นอกจากไม่เห็นผลงานที่ชัดแจ้งแล้ว ยังมีการกำหนดนโยบายแบบไม่เห็นหัวคนจนแมัแต่นิด เพราะค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. อยู่ที่ 331 บาท เท่ากับว่าโอกาสเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าของคนจนแทบจะไม่มี 
แต่ถ้ามองให้ลึกผมคิดว่ามีความซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะการประกาศปรับราคาค่าโดยสารให้คนรู้สึกตกใจ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จะกลายเป็นแรงกดดัน ที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล ต่ออายุสัมปทานให้กับบริษัท BTS 30 ปี แลกกับการเก็บค่าโดยสาร 15 ถึง 65 บาท ที่มีความพยายามผลักดันมาก่อนหน้านี้ แต่ ครม. ยังไม่กล้าเคาะ 
"เป็นเพราะแบบนี้ใช่ไหมครับ เลยต้องเร่ง ประกาศค่าโดยสารใหม่ให้คนกรุงเทพฯ ออกมาบ่นให้หนัก กดดันรัฐบาลให้ต้อง ขยายสัมปทานตามที่ต้องการ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่านี่มันเป็นเกมตบตาประชาชนหรือหวังฮุบสัมปทาน 30 ปี กันแน่ ส่วนกทม.จะเดินเกมเดี่ยว หรือแบ่งงานกันทำ เล่นคนละหน้ากับ ครม. เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมประโยชน์ทั้งคู่ หรือไม่อันนี้ไม่กล้าฟันธง แต่ที่เห็นชัดคือประชาชนเดือดร้อน ไม่ขยายสัมปทานก็ต้องจ่ายแพง ขยายสัมปทาน ผลประโยชน์ร้ฐที่เป็นของประชาชนทุกคนก็จะถูกย้ายกระเป๋าไปอยู่ในมือของเอกชน กลายเป็นเหยื่อทั้งขึ้นทั้งล่อง"
ติดตามผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-iaJPCGpP5U

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ